Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานี

ปัตตานี

บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด
ปัตตานี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ติดกับทะเลจีนใต้ หรืออ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ 1,940.356 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำตานี และ แม่น้ำสายบุรี ในอดีตจังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากเคยมีฐานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะซึ่งเป็นรัฐอิสระของชาวไทยพุทธในพุทธศตวรรษที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รัฐ กลันตัน กับรัฐตรังกานูในมาเลเซีย ปัจจุบันยังมีซากเมืองเก่าของปัตตานีในยุคนั้นปรากฏให้เห็นที่อำเภอยะรังในปัจจุบัน และจากการที่มีพื้นที่เป็นป่าเขา และมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางยาวประมาณ 170 กิโลเมตร จึงเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า และวัฒนธรรม มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวหลายด้าน ทั้งด้านธรรมชาติ โบราณสถานทางประวัติศาสตร์และด้านประเพณีวัฒนธรรม ปัตตานีแบ่งการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี ยะรัง หนองจิก โคกโพธิ์ ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ สายบุรี กะพ้อ ไม้แก่น ทุ่งยางแดง และแม่ลาน
ปัตตานี อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ 1,055 กิโลเมตร ตั้งอยู่ติดกับอ่าวไทย มีเนื้อที่ 2,109 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 13 ของภาคใต้ พื้นที่โดยทั่วไป เป็นที่ราบต่ำ เหมาะแก่การเพาะปลูก แบ่งการปกครองออกเป็น 1 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอมายยอ อำเภอหนองจิก อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี อำเภอยะรัง อำเภอยะหริ่ง อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอไม้แก่น อำเภอกะพ้อ และกิ่งอำเภอแม่ลาน
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานี

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
เป็น สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 80 พรรษา ลำดับที่ 12 ตั้งอยู่ที่ชายหาดทะเล ตำบลรูสมิแร อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่เดิม 155 ไร่ ปัจจุบันสืบเนื่องจากการเจริญงอกงามของป่าชายเลนทำให้ชายหาดงอกได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ละน้อย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานเปิดสวนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2537

เมืองโบราณยะรัง ตำบลวัด อำเภอยะรัง ห่างจากจังหวัดปัตตานีไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรครับ แล้วแยกไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4061 อีก 2 กิโลเมตร เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของภาคใต้แห่งหนึ่ง มีการขุดค้นพบเมืองโบราณสองกลุ่มคือ เมืองโบราณบ้านวัด มีผังเมืองเป็นรูปวงรี กว้างประมาณ 3 กิโลเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 และเมืองโบราณบ้านประแว เป็นเมืองขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 500 เมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 พบโบราณวัตถุยุคสมัยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก




แหลมตาชี หรือ แหลมโพธิ์ เป็นหาดทรายขาวต่อจากหาดตะโละกาโปร์ เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลในลักษณะสันดอนจะงอย (Sand Spit) ไปในทะเลอ่าวไทยทางทิศเหนือ มีภูมิทัศน์ที่สวยงามเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางไปแหลมตาชีไปได้ 2 ทาง คือ ทางน้ำ นั่งเรือจากปากแม่น้ำปัตตานีตรงไปยังแหลมตาชีเลย ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ หรือ นั่งเรือจากท่าด่านอำเภอยะหริ่ง ออกมาตามคลองยามู จนถึงทะเลในไปจนถึงแหลมตาชี ทางบก จากอำเภอยะหริ่ง ข้ามคลองยามูมาตามสะพานไม้ มีถนนตัดเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร จนถึงปลายแหลมตาชี


มัสยิดกรือเซะ
มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่ริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาสหรือทางหลวงแผ่นดินสาย 42 บริเวณบ้านกรือเซะ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 7 กิโลเมตร ลักษณะการก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้เป็นแบบเสากลมก่ออิฐปูนแบบศิลปะทางตะวันออกกลาง ส่วนที่สำคัญที่สุดคือหลังคาโดมซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จมัสยิดเก่าแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสาปแช่งไว้ไม่ให้สร้างเสร็จ บริเวณใกล้เคียงนั้นมีฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2121–2136)


ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู เป็นศาลที่ประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่างๆภายในตัวเมืองปัตตานีทำพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต ในงานนี้มีผู้ที่เคารพศรัทธามาร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี









หาดรัชดาภิเษก หรือหาดสายหมอ อยู่ในตำบลบางเขน อำเภอหนองจิก ห่างจากตัวจังหวัด 15 กิโลเมตร ชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสน เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ แต่เนื่องจากชายทะเลเป็นลักษณะดินปนทรายจึงไม่เหมาะที่จะเล่นน้ำทะเล












และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในแต่ละอำเภอ ดังนี้
อ.เมือง
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เป็นมัสยิดที่สวยที่สุดของไทย สร้างในปีพ.ศ.2497 และทำพิธีเปิดโดยจอมพล-สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจ ของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หลังคาทรงสี่เหลี่ยมชั้นเดียวมีโดมใหญ่ 2 โดม รายรอบด้วยโดมเล็กๆอีกหลายโดม ดูสวยงาม สง่าและสงบ มัสยิดกลางแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตัวเมืองปัตตานี ริมถนนสายปัตตานี-ยะลา (ทางหลวง หมายเลข 410) หรือจากถนนพิพิธแล้วเลี้ยวขวา ไปตามถนนไปจังหวัดยะลา ระยะทางประมาณ 500 เมตร จะเห็นมัสยิดกลาง ตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนอย่างสง่างาม เปิดให้เข้าชมภายในทุกวัน เวลา 09.00 - 15.30 น. แต่ไม่ควรที่จะไป ในวันศุกร์ระหว่างเวลา 12.00 - 14.00 น. ซึ่งเป็นวันละหมาดประจำสัปดาห์
ปากน้ำปัตตานี ระยะทางห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตรเศษ เป็นหมู่บ้านชาวประมงใหญ่ มีทิวมะพร้าวนับพันเหมือนที่ หมู่บ้านชาวประมง หาดบางนรา จังหวัดนราธิวาส เหมาะแก่การพักผ่อนในยามเย็นเป็นอย่างยยิ่ง บริเวณพื้นที่อันกว้างขวางนี่เองเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายในพิพิธภัณฑ์เแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติ ผลงานและสิ่งของเครื่องใช้ของพระธรรมโมลี พระพุทธรูป เทวรูปปางต่างๆ พระพิมพ์ พระเครื่อง โบราณวัตถุที่สำคัญ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยยุโรป เครื่องถ้วยไทย-จีน เหรียญที่ระลึก เงินตราและธนบัตรต่างๆ เป็นต้น 2. พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา จัดแสดงเรื่องราวให้ความรู้และให้การศึกษาเฉพาะเรื่อง แบ่งเป็นส่วนๆได้แก่ เรื่องเรือนไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครื่องมือและเครื่องใช้พื้นบ้าน ศิลปการแสดงพื้นบ้าน โบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และจากแหล่งชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เมืองโบราณยะรัง เครื่องถ้วย ความเชื่อพื้นถิ่นและเทคโนโลยี
การเข้าชมเปิดวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 09.00-11.30 น. และ 13.00-16.00 เว้นวันหยุดราชการ โดยไม่เก็บค่าเข้าชม สำหรับการเข้าชมเป็นหมู่คณะหรือต้องการวิทยากรนำชมสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ งานบริการทางการศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000 โทร. 0 7331 3930-50 ต่อ 1472 , 1473 ,1476 และ 0 7333 1250 โทรสาร 0 7333 1250

ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณสนามศักดิ์เสนีย์ ในโรงเรียนเบญจมราชูทิศจังหวัดปัตตานีตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี สร้างเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 สมัยพระยารัตนภักดีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองปัตตานีและนักท่องเที่ยวจะพากันไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลเสมอ

สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ มีตำนานเล่าว่าลิ้มกอเหนี่ยวได้ลงเรือสำเภามาตามพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งมาแต่งงานกับธิดาพระยาตานี และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามกลับประเทศจีนไม่สำเร็จ จึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงได้ฝังศพลิ้มกอเหนี่ยวไว้ที่นี่ ต่อมาชาวปัตตานี นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้าขึ้น
อ.หนองจิก
วัดมุจลินทวาปี ตำบลหนองจิก อำเภอหนองจิก ห่างจากจังหวัดปัตตานี ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตรครับ เดิมชื่อวัดตุยง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายูใน พ.ศ. 2433 ได้เสด็จมาที่เมืองหนองจิกและวัดตุยง ทรงพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้สร้างพระอุโบสถ และพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ไว้ที่หน้าขัน ทรงเปลี่ยนชื่อวัดตุยงเป็นวัดมุจลินทวาปีวิหาร มาจนถึงปัจจุบันนี้
อ.สายบุรี
หาดวาสุกรี (ชายหาดบ้านปาตาตีมอ) อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 52กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอสายบุรีประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน การเดินทางจากตัวเมืองปัตตานี ใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส หรืออาจเลือกเดินทางผ่านหาดแฆแฆไปจนถึงอำเภอสายบุรีหรือเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าสู่อำเภอสายบุรีโดยตรงก็ได้ ลักษณะของหาดทรายเป็นแนวยาวขนานไปกับทิวสน นอกจากนี้ยังมีบังกะโลให้บริการอีกด้วย
หมู่บ้านปะเสยาวอ อยู่ที่ตำบลปะเสยาวอ อำเภอสายบุรี เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงมากในการทำเรือกอ และซึ่งเป็นเรือประมงชายฝั่ง ตกแต่งลวดลายและชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรืออย่างงดงาม นอกจากจะใช้ในการประมงแล้ว ยังมีการแข่งขันเรือกอและเป็นประจำทุกปี หมู่บ้านปะเสยาวอ เป็นหมู่บ้านที่มีการต่อเรือกอและเป็นอาชีพและมีชื่อเสียงมาก สามารถเดินทางโดยข้ามสะพาน ซึ่งอยุ่ด้านหลังสถานีตำรวจภูธรสายบุรีแล้วต่อไปยังหมู่บ้านได้
หมู่บ้านรูสะมิแล รูสะมิแล เป็นภาษายาวีแปลว่าสนเก้าต้น เป็นท้องที่ของตำบลที่ส่วนหนึ่งเป็นทะเลด้านเหนือของอำเภอ อาณาเขาของบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกในพระปรมาภิไธยย่อของสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชว่า "ม.อ."
หาดปาตาตีมอ หรือหาดวาสุกรี เป็นหาดทรายขาวสะอาด มีร่มไม้และทิวสน เหมาะแก่การพักผ่อน น้ำทะเลน่าเล่น เทศบาลตำบลตะลุบันได้สร้างสะพานข้ามไปยังหาดแล้ว อยู่ห่างตัวอำเภอไปตามทางหลวงหมายเลข 42 ราว 53 กิโลเมตร
อ.ปานาเระ
ตลาดนัดปาลัส บนทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินสาย 42 เข้าสู่อำเภอปานาเระ คือบ้านปาลัส ช่วงเวลาเช้าสายจะมีตลาดนัดริมทาง ชาวไทยมุสลิมแต่งเครื่องแต่งกายพื้นเมือง โพกศรีษะด้วยผ้าบาติกสีฉูดฉาด เดินไปมาหาซื้อของในตลาดแหงนั้น เป็นภาพซึ่งน่าชมชีวิตชนบทของชาวไทยมุสลิม ที่มีบรรยากาศเมืองใต้อย่างแท้จริง ตลาดนัดปาลัสนี้จะปิดเฉพาะวันพุธ และวันอาทิตย์เท่านั้น
หาดปะนาเระ อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เส้นทางเดียวกับหาดตะโละกาโปร์ เป็นหมู่บ้านชาวประมงหลายร้อยหลังคาเรือน บนหาดทรายมีเรือกอและ และเรือประมงนานาชนิดจอดเรียงรายอยู่ทั่วทั้งหาด หาดทรายไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะเป็นหมู่บ้านชาวประมงและที่จอดเรือ
หาดชลาลัย ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร ไปตามถนนสายปัตตานี-นราธิวาส เลี้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอปะนาเระและแยกเข้าสู่ชายหาด จุดเด่นของหาดแห่งนี้อยู่ที่บึงน้ำขนาดใหญ่ใกล้บริเวณทิวสน ซึ่งให้บรรยากาศที่สงบร่มรื่นเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
หาดมะรวด อยู่ถัดจากหาดชลาลัยไปประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางเช่นเดียวกับทางไปหาดชลาลัยแต่ไปต่อจนถึงทางแยกจากถนนปะนาเระ-สายบุรีและเลี้ยวซ้ายไปสู่หาด ลักษณะเด่นของหาดมะรวดได้แก่ ภูเขาหินที่มีขนาดเล็กตั้งซ้อนทับกันอยู่ดูแปลกตา และมีทางเดินทอดยาวให้ขึ้นไปเดินเล่นบนยอดเขาได้อีกด้วย
หาดราชรักษ์ เป็นหาดทรายต่อเนื่องกับหาดชลาลัย หาดมะรวดและหาดแฆแฆ โดยอยู่ถัดจากหาดมะรวดไปเพียง 1 กิโลเมตร และอยู่ก่อนถึงหาดแฆแฆประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางเดียวกับที่ไปหาดชลาลัย และหาดมะรวด ลักษณะเด่นของหาดราชรักษ์คือเป็นหาดทรายกว้างล้อมรอบด้วยโขดหิน และหุบเขาเตี้ยๆ บนเนินเขา นับได้ว่าเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
หาดแฆแฆ อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 43 กิโลเมตร แฆแฆ เป็นภาษาลายูท้องถิ่น (ภาษาบาวี) มีความหมายว่า อึกทึกครึกโครม อยู่ในท้องที่ ตำบลบ้านน้ำบ่อ ตั้งอยู่ห่างจากหาดราชรักษ์ประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวง สายปัตตานี- นราธิวาส เลื้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอปะนาเระ ไปจนถึงทางแยกขวามือไปสู่อำเภอสายบุรี จึงเอินทางต่อไป อีกประมาณ 8 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4157 (ปะนาเระ-สายบุรี) หาดแฆแฆ อยู่ในเขตหุบเขาเตี้ย ล้อมรอบด้วยโขดหิน ลักษณะ แปลกตาสวยงาม บนเนินเขามีศาลาพัก ผ่อน และเป็นจุดชมทิวทัศน์ ที่สวยที่สุด แห่งหนื่ง กล่าวกันว่า หาดแฆแฆ นี้เป็นหาดทรายที่สงบ และสวยงาม ของจังหวัดปัตตานี
อ.ยะหริ่ง
หาดตะโละกาโปร์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอยะหริ่ง ข้ามคลองยามูตามสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ ผ่านพื้นที่สวนป่าชายเลนและหมู่บ้านไปจนถึงทางแยกเข้าสู่หาด รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานี เคยประกวดแหล่งท่องเที่ยว 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ได้ที่ 2 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ประจำปี 2529 หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดทรายขาวสะอาดขนานกับชายฝั่งทะเล มีเรือกอและของชาวประมงจอดอยู่เป็นจำนวนมาก หาดทรายแห่งนี้งอกยาวออกไปเรื่อยๆ เพราะเกิดจากกระแสน้ำพัดเอาตะกอนทรายมาทับถมพอกพูน เหมาะแก่การไปนั่งพักผ่อนชมความสวยงาม มีทิวสนและต้นมะพร้าวให้ความร่มรื่นสวยงาม
มัสยิดบ้านดาโต๊ะหรือมัสยิดดาโต๊ะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอยะหริ่งประมาณ 10 กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับทางไปหาดตะโละกาโปร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในประวัติศาสตร์ด้านศาสนาซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2478
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง ตั้งอยู่บริเวณริมคลองยามู ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนยะหริ่ง มีพื้นที่โครงการรวม 500 ไร่ ศูนย์ฯนี้มีทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเป็นสะพานที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทอง (Hopea Odorata) เป็นระยะทางยาวโดยรอบ 1,250 เมตร ตลอดเส้นทางเดินโดยรอบจะเห็นกลุ่มไม้ในสังคมป่าชายเลนทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถาและไม้พื้นล่าง ซึ่งพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีความสามารถขึ้นอยู่ได้ในบริเวณที่มีลักษณะแตกต่างกันโดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ระหว่างระดับน้ำทะเลต่ำสุดและระดับน้ำทะเลสูงสุดเช่น กลุ่มไม้ถั่วขาว กลุ่มไม้ตะบูนดำ กลุ่มไม้ตาตุ่มทะเล ฝาดดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกขาว เป็นต้น ตามเส้นทางจะมีระเบียงพักและมีซุ้มสื่อความหมายอธิบายเกี่ยวกับป่าชายเลนพร้อมมีรูปภาพประกอบและยังมีสะพานทางเดินไม้ยกระดับ ศาลาพักผ่อน และหอชมนก เพื่อชมทัศนียภาพเหนือยอดของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนซึ่งหอนี้มีความสูงถึง 13 เมตร นอกเหนือจากการเดินศึกษาป่าชายเลนตามเส้นทางเดินแล้วยังมีการล่องเรือชมป่าชายเลนซึ่งจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งของศูนย์ฯ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือชมธรรมชาติป่าชายเลนตาม ลำคลองน้อยใหญ่ซึ่งแบ่งเป็น 3 สายคือคลองบางปู คลองกลาง คลองกอและ ตลอดสองฝั่งคลองจะเห็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ นกนานาชนิด วิถีชีวิตของชาวบ้านกับป่าชายเลนและความสวยงามของสวนป่าโกงกาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี โทร. 0 733 49146 ต่อ 4146
อ.โคกโพธิ์
พลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 7 ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 42 ตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เป็นศาลาทรงไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อ พ.ศ. 2472
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว อยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร ตามถนนสายโคกโพธิ์-นาประดู่ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปตามทางหลวงจังหวัดสาย 4072 อีก 7 กิโลเมตร อุทยาน ฯ นี้มีเนื้อทที่ 1,875 ไร่ เป็นสถานที่สวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ประชาชนในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงนิยมไปพักผ่อนหย่อนใจกันมาก อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้
วัดช้างให้ หรือวัดราชบูรณาราม ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไร่ตำบลทุ่งพลา ริมทางรถไฟสายหาดใหญ่สุไหงโก-ลกระหว่างสถานีนาประดู่กับ สถานีป่าไร่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ผ่านสามแยกนาเกตุตรงไปตามเส้น-ทางหลวงหมายเลข 409 (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชน สุขาภิบาลนาประดู่ และสวนยางไปจนถึงซุ้มที่ประตูวัดทางซ้ายมือ เพื่อแยกเข้าสู่วัดช้างให้อีกประมาณ 700เมตร สภาพถนนลาดยางตลอดสาย วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 300 ปี มาแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า ผู้ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริง ประดิษฐานอยู่นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของ สถูป เจดีย์ มณฑป อุโบสถและหอระฆังล้วน งดงามน่าชื่นชมทั้งสิ้น หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ เป็นผู้มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรม และด้านเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ บางครั้งท่าน ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คน เช่นครั้งที่ท่านเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดพายุ จนกระทั่งข้าวปลาและอาหารตลอดจนน้ำดื่มตกลงทะเลไป ลูกเรือรู้สึกกระหายน้ำมากหลวงปู่ทวดจึงได้แสดงอภินิหารหย่อนเท้าลงไป ในทะเลปรากฏว่าน้ำในบริเวณนั้นได้กลาย เป็นน้ำจืดและดื่มกินได้ตั้งแต่นั้นมา ชื่อเสียงของท่านก็ขจรขจายไปทั่ว และต่อมาหลวงปู่ทวดได ้เสด็จมรณภาพที่ประเทศมาเลเซีย แล้วได้นำพระศพกลับมาที่วัดช้างให้ ที่พักพระศพของหลวงปู่ทวด ได้กลายมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านสักการะมาจนทุกวันนี้ พระเครื่องสมเด็จหลวงปู่ทวดมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เชื่อถือของนักเล่น พระมาก งานประจำปีในการสรงน้ำอัฐิ หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 วัดช้างให้เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00-17.00 น. ครับ
น้ำตกโผงผาง ห่างตัวจังหวัดราว 34 กิโลเมตร ความสูง 40 เมตร อยู่ในช่วงเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลคดเคี้ยว เงียบสงบ ธรรมชาติงดงามมาก
น้ำตกโผงโผง ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เป็นน้ำตกที่เกิดจากเทือกเขานางจันทร์ มีความสูงประมาณ 80 เมตร เป็นน้ำตกที่ไหลตกลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได มี 7 ชั้น จากที่ราบชั้นล่างสุดซึ่งมีแอ่งน้ำตกขนาดใหญ่ มองขึ้นไปยังผาน้ำตกชั้นบน จะมองเห็นน้ำตกไหลลงมาเป็นสายน้ำคดเคี้ยวตามหน้าผาและโขดหิน พื้นที่บริเวณสองข้างลำธารและบริเวณใกล้น้ำตกมีความร่มรื่นถูกปกคลุมด้วยกิ่งใบของพันธุ์ไม้นานาชนิดซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น อยู่บริเวณบ้านโผงโผงใน หมู่ที่ 8 ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ใช้เส้นทางสายปัตตานี-ยะลา ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 มีทางแยกขวาที่บ้านปากล่ออีก 6 กิโลเมตร ถึงน้ำตกโผงโผง
เตาหล่อปืนใหญ่ นายช่าง "ลิ่มโต๊ะเคี่ยม" เป็นผู้สร้างขึ้น ปืนใหญ่ที่หล่อสำเร็จคือ "พญาตานี" แต่ลิ่มโต๊ะเคี่ยมก็ต้องมาตายด้วยปืนใหญ่ที่ตัวเองสร้าง ขณะทำการทดลองยิง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยึดเมืองปัตตานีได้แล้วจึงนำปืนใหญ่พญาตานีกับกระบอกปืนใหญ่ที่ใหญ่ใกล้เคียงกันกลับกรุงเทพฯ ด้วยแต่กระบอกที่ใหญ่ใกล้เคียงกันนั้นหล่นหายกลางทางเสียก่อน จึงเหลือกลับมาเพียงพญาตานีกระบอกเดียวครับ (ถ้าคุณเคยดูหนังเรื่องปืนใหญ่จอมสลัดจะเห็นว่ามีพลอตเรื่องโดยเหมือนจะแทรกเอาเรื่องราวของปืนใหญ่กระบอกนี้ลงไปเลยทีเดียว)
น้ำตกอรัญวาริน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งพลา การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 409 สายปัตตานี-ยะลา ถึงทางแยกขวามือตรงปากทางเข้าวัดห้วยเงาะ อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 30 กิโลเมตร น้ำตกอรัญวารินเป็นน้ำตกในเทือกเขาสันกาลาคีรี ลักษณะน้ำตกแบ่งออกเป็นชั้นๆ รวม 7 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 300–500 เมตร ซึ่งในแต่ละชั้นมีลักษณะความสวยงามแตกต่างกันออกไป
น้ำตกพระไม้ไผ่ ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำยอดเขาใหญ่ ไหลลงสู่น้ำเทพา เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ตกจากผาหินกว้างประมาณ 10 เมตร มีความสูงประมาณ 40 เมตร ซอกซอนไปตามโขดหินจนถึงลานหินแกรนิตขนาดใหญ่ จากนั้นสายน้ำจะแผ่กว้างออกแล้วไหลลงสู่ลำธารเบื้องล่างซึ่งจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเทพา บริเวณน้ำตกมีพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านโหนดร่วมใจกันสร้างไว้ นามว่า “พระเวฬุวัน” น้ำตกพระไม้ไผ่อยู่ห่างจากน้ำตกทรายขาว 12 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยบอน หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ใช้เส้นทางสายทรายขาว-สะบ้าย้อย มีทางแยกซ้ายที่บ้านโหนดอีก 3 กิโลเมตร เข้าสู่น้ำตก
เส้นทางเดินป่าสู่ยอดเขาสันกาลาคีรี ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว นอกจากพืชพันธุ์และสัตว์ป่ามากมายแล้ว ระหว่างทางยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น ถ้ำวิปัสสนาเขาหินช้าง หินสลักพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จุดชมทิวทัศน์เขาหินช้าง จุดรอยต่อของ 3 จังหวัด ฯลฯ ผู้สนใจติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ แต่จะเปิดให้เดินป่าเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม โดยมีเจ้าหน้าที่นำทางคอยให้ความรู้ตลอดเส้นทาง การเดินทางสู่ยอดเขาใช้เวลา 2 วัน 1 คืน
น้ำตกพรุบอน ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำของยอดเขาใหญ่ มีหลายชั้นตั้งอยู่ในท้องที่บ้านแกแดะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีสภาพป่าที่สมบูรณ์เหมาะในการเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ
จุดชมทิวทัศน์ "ยอดเขาหินช้าง" ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เป็นยอดเขาอีกยอดหนึ่งของเทือกเขานางจันทร์ มีความสูงประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนยอดเขามีลานกว้างประมาณ 2 ไร่ มีก้อนหินขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นจากตีนเขารูปร่างลักษณะคล้ายช้าง หรือรูปสัตว์โบราณ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของพื้นที่ราบตอนล่าง และที่ชายทะเลของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นชุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามมากจุดหนึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว หมู่ที่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
แก่งหินห้วยลำพะยา ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เป็นแก่งหินที่สวยงามมีอยู่ตลอดแนว ลำธารห้วยลำพะยา เหมาะในการเดินทางไปชมธรรมชาติ และพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำเชื่อมกับเขื่อนลำพะยา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้อีกบริเวณหนึ่งด้วย ตั้งอยู่บริเวณป่าเหนือบ้านลำพะยา ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองพะยา จังหวัดยะลา
อ.ไม้แก่น
หาดทราย ชายบึงบ้านละเวง จากตัวเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส ) เป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ทางแยกเข้าอำเภอไม้แก่นอยู่ทางซ้ายมือ เมื่อข้ามสะพานกอตอไปประมาณ 8 กิโลเมตร ก็จะถึงหาดทราย ชายบึงบ้านละเวง มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติงดงามแปลกตาแก่ผู้ที่พบเห็น ลักษณะของหาดทรายแห่งนี้ คือ มีบึงขนาดใหญ่เคียงข้างหาดทรายขาวสะอาด ให้บรรยากาศแตกต่างจากหาดทรายอื่น นอกจากนี้บริเวณนั้นยังมีศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ (กลุ่มทอผ้าบ้านละเวง) นักท่องเที่ยวสามารถไปดูการทอผ้าฝ้าย และยังมีโครงการทดลองเลี้ยงปลาน้ำกร่อยอีกด้วย
หาดบางสาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลไทรทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 74 กิโลเมตร ลักษณะเป็นหาดทรายชายทะเลยาวประมาณ 5 กิโลเมตร
หาดป่าไหม้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลไทรทอง เป็นหาดทรายต่อจากหาดบางสาย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
อ.ยะรัง
เมืองโบราณยะรัง เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทยและเชื่อว่าเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณที่มีชื่อว่า “ลังกาสุกะ” หรือ “ลังยาเสียว” ตามที่มีหลักฐานปรากฎในเอกสารของจีน ชวา มลายู และอาหรับ ลักษณะของเมืองโบราณยะรัง สันนิษฐานว่า มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีการสร้างทับซ้อนกันถึง 3 เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกัน ประกอบไปด้วย
- เมืองโบราณบ้านวัด มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีซากเนินดินโบราณสถานกระจายอยู่โดยรอบกว่า 25 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือในบริเวณพื้นที่บ้านจาเละ
- เมืองโบราณบ้านจาเละ มีศูนย์กลางอยู่ที่สระน้ำ โอบล้อมด้วยคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมถัดจากกลุ่มโบราณสถานบ้านวัดขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร
- เมืองโบราณบ้านปราแว เป็นเมืองคูน้ำ คันดินขนาดเล็กที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่ามีป้อมดินทั้ง 4 มุมเมือง และมีคลองส่งน้ำต่อเชื่อมกับคูเมืองโบราณบ้านจาเละสี่มุมเมืองด้านทิศเหนือทั้ง 2 ด้าน นอกจากร่องรอยของคูน้ำ คันดินคูเมืองโบราณทั้ง 3 แห่งแล้วภายในกลุ่มเมืองโบราณนี้ ยังปรากฎซากโบราณสถานเนินดินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 แห่ง
การเดินทางไปสู่แหล่งเมืองโบราณสามารถใช้เส้นทางสิโรรส (ทางหลวงหมายเลข 410 ) จากจังหวัดปัตตานีลงไปทางจังหวัดยะลาประมาณ 15 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ (ทางหลวงหมายเลข 4061) ประมาณ 1.2 กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณและเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 400 เมตร ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ
นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อได้ที่หัวหน้าโครงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี ในวันและเวลาราชการ โทร. 0 7343 9093
วัดมุจลินทวาปีวิหาร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ริมเส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ในเขตสุขาภิบาลอำเภอหนองจิก เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจิกจากที่เก่า มาอยู่ที่ตำบลตุยง เมื่อ พ.ศ. 2388 เดิมมีชื่อว่า วัด ตุยง ต่อมาพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองหนองจิก และมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมุจลินทวาปีวิหาร” ปัจจุบันเป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม จุดเด่นของวัดคือวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ซึ่งประชาชนที่เคยได้ยินคุณความดีของหลวงพ่อ ต่างเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมานมัสการสักการะบูชาอยู่เสมอ
อ.มายอ
เขาฤาษี ตั้งอยู่ที่อำเภอมายอ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร เขาฤาษีเป็นภูเขาโขดหินธรรมชาติ มีบ่อน้ำก่อด้วยอิฐกว้าง 2 ศอก ลึกประมาณ 5 ศอก ถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทางราชการเคยนำไปใช้ในพิธีราชาภิเษกหลายรัชการ บนเขาฤาษีในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาฤาษีแปลงสาร มีการสร้างโบสถ์ครอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ วัดเขาฤาษีเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น