Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดยะลา

ยะลา
ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน
คำว่า ยะลา มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า ยะลอ ซึ่งแปลว่า “แห” เป็นเมืองชายแดนภาคใต้ที่มีความน่าสนใจทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงาม เป็นเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชนต่างเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน และอิสลาม ตัวเมืองยะลามีการวางผังเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ เดิมยะลาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรไทยครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. 2310 หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในบริเวณแถบนี้ต่างก็ประกาศตัวเป็นอิสระ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทยกทัพหลวงไปตีเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ. 2351 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะ เมืองรามัน และเมืองยะลา สำหรับเมืองยะลานั้น มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าเมืองหลายครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศยุบเลิกมณฑล ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยระเบียบแห่งราชอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2476 และกลายมาเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในที่สุด
จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 4,521 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และประเทศมาเลเซีย ยะลา เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ พื้นที่ราบมีน้อย ยะลาแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และกิ่งอำเภอกรงปินัง
อาณาเขต : ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดปัตตานี ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนราธิวาส ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดสงขลา ทิศใต้ ติดกับประเทศมาเลเซีย
คำขวัญประจำจังหวัด : ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดยะลา

น้ำตกธารโต
ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติบางลาง เดิมกรมป่าไม้ได้จัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกธารโตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลลดหลั่นกันมารวม 9 ชั้น แต่ละชั้นสูงประมาณ 20 เมตร และไหลลดหลั่นต่อเนื่องกันลงมาตามซอกหิน ทุกชั้นมีทางเดินเท้าสามารถเดินชมความงามได้ตลอด บริเวณน้ำตกชั้นที่ 3-5 มีศาลาพักชมความงามของน้ำตกและผืนป่า ชั้นที่ 9 เป็นชั้นสูงสุด สายน้ำไหลตกจากหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร ระยะทางจากชั้น 1-9 ประมาณ 500 เมตร ผ่านไปตามป่าดงดิบร่มครื้น เหมาะแก่การดูนกซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น นกพญาปากกว้างเล็ก นกบั้งรอกเขียวอกแดง นกกางเขนน้ำหลังแดง นกกินปลีแดง นกโพระดกคางแดง ฯลฯ น้ำตกธารโตอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 1 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติบางลาง
อุทยานแห่งชาติบางลาง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต
อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ใน 5 ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่ป่าเหนือเขื่อนบางลาง บริเวณป่ารอบๆ อ่างเก็บน้ำที่สมบูรณ์ ทะเลสาบ เกาะ ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมเนื้อที่ประมาณ 163,125 ไร่ หรือ 261 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา: สำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี ได้มีหนังสือที่ กส 0714(ปน)/1020 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2525 ว่า เขตปัตตานีและจังหวัดยะลาได้ตรวจสอบพื้นที่ในเขตนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา ที่ได้รับคืนจากกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2523 แล้วปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 310/2526 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526 ให้ นายสมเกียรติ ม้าแก้ว นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปทำการสำรวจเบื้องต้นซึ่งได้รับรายงานว่าขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวมีเหตุการณ์ไม่ปกติ อยู่ในระหว่างการปราบปรามผู้ก่อการร้ายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร จึงขอระงับการสำรวจไว้ก่อนจนกว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีตามหนังสือรายงานที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 19 เมษายน 2526 ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีหนังสือที่ กษ 0713/15627 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2527 และที่ กษ 0713/530 ลงวันที่ 10 มกราคม 2528 ถึงป่าไม้เขตปัตตานีขอทราบสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวว่าสามารถเข้าไปทำการสำรวจได้หรือไม่ ซึ่งป่าไม้เขตได้มีหนังสือที่ กษ 0714 (ปน)/181 ลงวันที่ 28 มกราคม 2528 แจ้งว่า ได้สอบถามไปยังจังหวัดยะลาแล้ว ได้รับรายงานว่าบริเวณพื้นที่ที่ได้รับคืนจากกรมประชาสงเคราะห์ ในขณะนี้สถานการณ์ปกติสามารถเข้าไปทำการสำรวจได้ ตามหนังสือจังหวัดยะลา ที่ ยล.0009/1085 ลงวันที่ 21 มกราคม 2528 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งที่ 467/2528 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2528 ให้ นายอภัย หยงสตาร์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นในบริเวณพื้นที่เขตนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ ที่ได้รับคืนจากกรมประชาสงเคราะห์ พื้นที่ป่าเหนือเขื่อนบางลาง และบริเวณใกล้เคียงในท้องที่จังหวัดยะลา ผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713/- ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 รายงานว่า พื้นที่ที่ได้รับคืนจากกรมประชาสงเคราะห์ยังอยู่ในระหว่างการปราบปรามโจร จ.ค.ม. ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่สามารถทำการสำรวจได้ ส่วนพื้นที่ป่าเหนือเขื่อนบางลางและบริเวณใกล้เคียง ในท้องที่อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ มีจุดเด่นตามธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ และมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสำหรับจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ กษ 0713/2120 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2528 เสนอกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 966/2528 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2528 ให้นายอภัย หยงสตาร์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปดำเนินการจัดตั้งและปรับปรุงป่าเหนือเขื่อนบางลางและบริเวณใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่งของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งต่อมาอุทยานแห่งชาติบางลางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713(บล)/42 ลงวันที่ 25 เมษายน 2529 แจ้งขอให้รวมพื้นที่วนอุทยานธารโต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี เนื้อที่ประมาณ 9.25 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติบางลาง และกรมป่าไม้ได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ กษ 0713/3373 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 ถึงป่าไม้เขตปัตตานี ให้โอนวนอุทยานน้ำตกธารโต เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบางลาง ทำให้มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 461.04 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติบางลางได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว ประกอบด้วยพื้นที่ทั้งหมด 163,125 ไร่ โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าลาบู ป่าถ้ำทะลุ และป่าเบตง ในท้องที่ตำบลถ้ำทะลุ ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา ตำบลแม่หวาด ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต และตำบลอัยเยอร์เวง ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 88 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ : สภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติบางลางเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน สลับกับเนินเขาและพื้นที่ราบบางตอน พื้นที่ลาดเทจากด้านทิศใต้ลงสู่ทิศเหนือ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 เมตร ประกอบด้วยเขาฮาลา เขาลาซะ เขาบูโละ และเขาฮันกุล ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนดินเหนียวมีดินลูกรังเป็นบางส่วน เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำหลายสายไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี ประกอบด้วยคลองและลำห้วยหลายสาย อาทิเช่น คลองชาลี คลองนีโล คลองกาวะ คลองกือนือฮง คลองโต๊ะโมะ คลองฮาลา คลองกาบู และคลองฮาลาซะห์

ลักษณะภูมิอากาศ : สภาพอากาศเย็นชุ่มชื้น มีลมมรสุมตะวันออกพัดผ่านทำให้มีฝนตกเกือบตลอดปีระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม จะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน - พฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,200 มิลลิเมตรต่อปี และฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคม - เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 29 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า : สภาพป่าประกอบด้วยป่าดงดิบชื้น มีไม้นานาชนิดขึ้นอยู่หนาแน่น ได้แก่ ยาง หลุมพอ สมพง ขนุนป่า ตะเคียนทอง สยาขาว งิ้ว ทัง ตะโก ตีนเป็ด ตีนนก ตะแบก มะกอกป่า ยางน่อง นาคบุตร หยีน้ำ มะม่วงป่า โสกเหลือง เป็นต้น และพันธุ์เฉพาะถิ่นขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ใบไม้สีทอง ปาล์มบังสูรย์ เฟินต้น บัวผุด ปุด กระวาน ดาหลา เป็นต้น เนื่องจากสภาพป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติมีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า เสือ เลียงผา กระทิง วัวแดง สมเสร็จ กวางป่า เก้ง กระจง หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี เม่น นากใหญ่ขนเรียบ ชะมด พังพอน นกกางเขนดง นกกรงหัวจุก นกโพระดก นกพญาปากกว้าง นกเงือกมีอยู่ 11 ชนิด เช่น นกชนหิน นกเงือกปากดำ นกกาฮัง เต่า กิ้งก่า จิ้งเหลน กบภูเขา และงู เป็นต้น ในบริเวณแหล่งน้ำมีปลาพวงชมพู ปลาสลาด ปลากด และปลาหมูหางแดง

การเดินทาง : ที่ทำการอุทยานแห่งชาติบางลาง ตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกธารโต ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา สามารถเดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 56 จะมีทางแยกเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

ที่พักแรม/บ้านพัก : อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมบ้านพักไว้ให้บริการในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2 หลัง สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สามารถรองรับได้ ประมาณ 50 คน โดยต้องนำเต็นท์มากางเอง

ที่จอดรถ : มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว : มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปท่องเที่ยว ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
บ่อน้ำร้อนเบตง
บ่อน้ำร้อนเบตง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของเบตงที่มีน้ำพุเดือดขึ้นมาจากพื้นดินใน
หมู่บ้านจะเราะปะไร ตำบลตาเนาะแมเราะ ก่อนถึงอำเภอเบตง 5 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 410 มีทางแยกขวาไปอีก 8 กิโลเมตร ตรงจุดบริเวณที่น้ำเดือดสามารถต้มไข่สุกภายใน 7 นาที มีบริการห้องอาบน้ำแร่ ซึ่งเชื่อกันว่าน้ำแร่จากบ่อน้ำร้อนสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยและรักษาโรคผิวหนังได้






พระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข

พระพุทธไสยาสน์วัดคูหาภิมุข หรือ วัดหน้าถ้ำ เป็นหนึ่งในสามปูชนียสถานที่สำคัญของภาคใต้ เช่นเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระบรมธาตุไชยาที่ สุราษฎร์ธานี แสดงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าถ้ำ ห่างจากตัวเมือง 8 กิโลเมตร ตามเส้นทางไปอำเภอยะหา บริเวณวัดร่มรื่นมีธารน้ำไหลผ่าน บันไดขึ้นไปยังปากถ้ำมีรูปปั้นยักษ์ ชาวบ้านเรียกว่า “เจ้าเขา” สร้างโดยช่างพื้นบ้านเมื่อปี 2484 ภายในถ้ำมีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ ดัดแปลงปรับปรุงเป็นศาสนสถาน มีปล่องที่เพดานถ้ำยามแสงแดดส่องลงมาดูสวยงามมาก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ปี พ.ศ.1300 เป็นพระพุทธไสยาสน์สมัยศรีวิชัย มีขนาดความยาว 81 ฟุต 1 นิ้ว เชื่อกันว่าเดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะมีภาพนาคแผ่พังพานปกพระเศียร ต่อมาจึงได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธไสยาสน์แบบหินยาน

ถ้ำกระแชง

ถ้ำกระแชง ตั้งอยู่ที่บ้านกาโสด ตำบลบันนังสตา ห่างจากจังหวัดยะลา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ประมาณ 50 กิโลเมตร เลยแยกปากทางเข้าเขื่อนบางลางไปเล็กน้อย แล้วแยกซ้ายเข้าไปตามทางลูกรังอีก 1.5 กิโลเมตร มีทัศนียภาพของภูเขา ธารน้ำและถ้ำลอดที่สวยงาม ในช่วงที่น้ำน้อยสามารถเดินเลาะเลียบตามลำธารลอดถ้ำไปทะลุอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่โล่ง โอบล้อมด้วยภูเขาและแมกไม้เขียวขจี มีทัศนียภาพสวยงาม


นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆอีก อันได้แก่

เขื่อนบางลาง ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติบางลาง ตั้งอยู่ที่บ้านบางลาง ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดยะลา 58 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา - เบตง) ถึงบ้านกาโสด หลักกิโลเมตรที่ 46 แยกเข้าเขื่อน 12 กิโลเมตร เขื่อนบางลาง สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2524 ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 85 เมตร ยาว 422 เมตร สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ฐานเขื่อนกว้าง 366 เมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 72,000 กิโลวัตต์ มีพื้นที่ผิวน้ำระดับสูงสุด 51 ตารางกิโลเมตร สามารถล่องแพหรือนั่งเรือชมทัศนียภาพป่าฮาลา เกาะแก่งเหนือเขื่อนบางลาง สัมผัสธรรมชาติของป่าฮาลา ผืนป่าบริสุทธิ์ซึ่งอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้แปลกๆ ซึ่งเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ใบไม้สีทอง ปาล์มบังสูรย์ เฟินดึกดำบรรพ์ บัวผุด เป็นต้น สามารถชมสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ฝูงกระทิง กวางป่า หมูป่า เก้ง นากใหญ่ขนเรียบ ฝูงลิง ค่าง กินยอดหลุมพอริมฝั่งคลองต่างๆ ในผืนป่าฮาลา นอกจากนี้ยังได้สัมผัสนกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกเงือกที่มีมา เช่น นกชนหิน นกเงือกปากดำ นกกาฮังที่หาดูได้ง่ายบริเวณคลองน้ำใส คลองฮาลา และคลองฮาลาซะห์ ตลอดจนน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกกิตติโชควัฒนา น้ำตกคลองโต๊ะโมะ และน้ำตกคลองน้ำใส

หมู่บ้านซาไก หมู่บ้านซาไก อยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร ห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปทางเบตงประมาณ 80 กิโลเมตร ด้านขวามือ มีทางเข้าไปยังหมู่บ้านที่อาศัยของชนเผ่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “เงาะซาไก” เดิมดำรงชีวิตอยู่ด้วยการหาของป่า มีความชำนาญในด้านสมุนไพรและเป่าลูกดอกล่าสัตว์ บ้านเรือนของซาไกเดิมสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาจาก ต่อมา กรมประชาสงเคราะห์ได้พัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ โดยรวบรวมชาวซาไกมาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน และให้มีอาชีพทำสวนยางและได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขอใช้คำว่า “ศรีธารโต” ให้ทุกคนใช้เป็นนามสกุล ปัจจุบันมีชนเผ่าซาไกที่ยังคงอาศัยอยู่บ้าง แต่บางส่วนได้แยกย้ายไปทำงานที่อื่น

น้ำตกละอองรุ้ง ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติบางลาง เป็นจุดชมทะเลหมอกในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม น้ำตกอยู่ท่ามกลางผืนป่าดิบชื้นที่งดงามมาก มี 4 ชั้น จากน้ำตกชั้นที่ 1 เดินเลียบธารน้ำไปประมาณ 200 เมตร จะถึงน้ำตกชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นที่สูงและสวยงามที่สุด สูงประมาณ 50 เมตร กระแสน้ำไหลลงสู่แอ่งน้ำที่มีหน้าผาล้อมรอบ เหลือเพียงช่องให้น้ำตกไหลลงสู่ชั้นที่ 3 เท่านั้น จากจุดนี้สายน้ำจะทิ้งตัวสู่แอ่งเบื้องล่างอย่างแรง จนเกิดเป็นละอองน้ำฟุ้งกระจาย เมื่อกระทบแสงแดดจะเกิดรุ้งสวยงาม จนเป็นที่มาของชื่อน้ำตก น้ำตกละอองรุ้งตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ บล.4 (น้ำตกละอองรุ้ง) ในเขตอำเภอเบตงสามารถเดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา - เบตง) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 97 จะมีทางแยกขวามือเข้าไปเพียง 400 เมตร

ทะเลสาบธารโต ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติบางลาง เป็นทะเลสาบเหนือเขื่อนบางลาง เกิดจากการถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง มีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร ยาว 6 กิโลเมตร มีทิวทัศน์และบรรยากาศที่สวยงามแปลกตา ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 30 เกาะ

น้ำตกฮาลาซะห์ ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติบางลาง อยู่ในเขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติบางลาง ที่ บล. 2 (โต๊ะโมะ) ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 90 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงแผ่นดินสายยะลา-เบตง เข้าทางเขื่อนบางลาง น้ำตกมีความสูงประมาณ 100 เมตร เหมาะแก่การดูนกเงือก ชมใบไม้สีทอง ศึกษาวิถีชีวิตชนเผ่าซาไก นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงยังมีน้ำตกจิ้งจก น้ำตกกิตติโชควัฒนา น้ำตกจุฬาภรณ์พัฒนาฯ น้ำตกบ้านเก้า อาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โจรจีนคอมมิวนิสต์ มลายาและโป่งดินที่สัตว์ลงมาหากิน

หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ห่างจากตัวเมืองมาตามเส้นทางสู่เขื่อนบางลางและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อำเภอธารโต บริเวณหมู่บ้านจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เครื่องใช้ และอนุสาวรีย์วีรชนของ จคม. แวดล้อมด้วยลำธารและสภาพภูมิประเทศสวยงาม นอกจากนี้ยังมีฟาร์มกวางดาว สถานที่กางเต็นท์ และบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว

ผืนป่าฮาลา-บาลา ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติบางลาง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติบางลาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา รวมกับผืนน้ำของอ่างเก็บน้ำบางลาง บริเวณผืนป่ายังคงความอุดสมบูรณ์มาก มีเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นที่อยู่อาศัยของนกเงือก รวมไปถึงสัตว์ป่าต่างๆ อาทิ กระทิง ช้างป่า เก้ง กวางป่า เป็นต้น การเดินทางต้องใช้เส้นทางด้านหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 เข้าทางหลังเขื่อนบางลางไปตามถนนที่คดเคี้ยวบนเทือกเขาจะสามารถมองเห็นจุดชมวิวเหนืออ่างเก็บน้ำที่สวยงาม

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา หรือสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 เป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ สัตว์ป่าและนกหายากนานาชนิด และเป็นที่อาศัยของคนป่าเผ่าซาไก มีพื้นที่ขนาดใหญ่อยู่ในแนวรอยต่อระหว่างจังหวัดยะลาและนราธิวาส เป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำในเขื่อนบางลาง นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือชมธรรมชาติของขุนเขา ป่าไม้และสายน้ำ โดยติดต่อเช่าเรือได้ที่ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 ถนนสุขยางค์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจกิจกรรมศึกษาธรรมชาติให้ทำหนังสือล่วงหน้าถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ล่วงหน้า 15 วัน ที่ตู้ ป.ณ.3 อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส 96160

น้ำตกสุขทาลัย (น้ำตกกือลอง) อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ บนเขาปกโยะ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 40 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายยะลา-เบตง แยกซ้ายอีกประมาณ 8 กิโลเมตร น้ำตกนี้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2507 มี 5 ชั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระราชทานนามน้ำตกแห่งนี้ว่า “น้ำตกสุขทาลัย” เป็นน้ำตกที่มีทัศนียภาพสวยงาม และมีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้

น้ำตกบูเก๊ะปิโล (น้ำตกตะวันรัศมี) ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 19 กิโลเมตร ตามเส้นทางยะลา-โกตาบารู เลี้ยวเข้าตำบลโกตาบารู ถึงตำบลท่าเรือประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าถนนหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงทางเข้าน้ำตก เข้าไปประมาณ 500 เมตร น้ำตกตะวันรัศมีเป็นน้ำตกที่สวยงามแตกต่างจากน้ำตกอื่น ๆ เพราะเมื่อแสงแดดกระทบกับสายน้ำ จะทำให้สีของหินใต้แอ่งน้ำเป็นสีเหลืองสวยงาม

ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตู้เดิมตั้งอยู่ที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 ตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จุดประสงค์ที่สร้างไว้ในครั้งแรกก็เพื่อใช้เป็นที่กระจายข่าวสารบ้านเมืองให้ชาวเมืองเบตงได้รับฟัง จากวิทยุที่ฝังอยู่ส่วนบนของตู้ และใช้เป็นตู้ไปรษณีย์มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันได้มีการสร้างตู้ไปรษณีย์ขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเดิมที่บริเวณศาลาประชาคม ถนนสุขยางค์ มีความสูงประมาณ 9 เมตร เป็นจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

เบตง คำว่า เบตง มาจากภาษามลายู แปลว่า ไม้ไผ่ เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ห่างจากตัวเมืองยะลาเป็นระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 โดยเฉพาะเส้นทางช่วงระหว่างอำเภอธารโต -เบตง เป็นเส้นทางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา มองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบ ป่าไม้และสวนยาง ตัวเมืองเบตงตั้งอยู่ในโอบล้อมของขุนเขาอากาศเย็นสบาย มีฝนตกชุก และมักมีหมอกปกคลุมในยามเช้า จนได้รับสมญานามว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม” เป็นอำเภอใหญ่ที่มีความเจริญ ชาวมาเลเซียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว มีอาหารการกินที่สมบูรณ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งในและนอกตัวเมืองมากมาย

ในอำเภอเบตงยังมี สวนสุดสยาม หรือ สวนสาธารณะเทศบาลตำบลเบตง มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขากลางเมืองเบตง เป็นจุดชมทัศนียภาพของเมืองเบตง ประกอบด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับ สวนนก สวนสุขภาพ สนามกีฬา สระว่ายน้ำ และสนามเด็กเล่น เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย หากเดินทางจากสวนสาธารณะเลยไปอีก 7 กิโลเมตร จนสุดถนนสุขยางค์จะถึงจุดใต้สุดของประเทศไทย ซึ่งมีถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศมาเลเซีย

นกนางแอ่น ยามพลบค่ำบนท้องฟ้าในย่านชุมชนกลางเมืองเบตงจะเต็มไปด้วยนกนางแอ่นที่บินมาอาศัยหลับนอนเกาะอยู่ตามอาคารบ้านเรือนและสายไฟฟ้าอยู่มากมาย โดยเฉพาะที่บริเวณหอนาฬิกาซึ่งประดับด้วยไฟฟ้าสว่างไสวตลอดคืน จะมีนกหนาแน่นเป็นพิเศษ เป็นภาพที่น่าอัศจรรย์และเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเบตง นกนางแอ่นเหล่านี้บินหนีความหนาวมาจากไซบีเรีย จะพบเห็นเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนกันยายน-มีนาคม

การเดินทาง : จากอำเภอเมืองยะลาไปเบตง มีบริการรถตู้หรือแท็กซี่ คิวรถตู้อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟยะลา รถออกทุก 1 ชั่วโมงระหว่างเวลา 6.00-17.00 น. หากเดินทางจากหาดใหญ่ มีบริการรถตู้ปรับอากาศไปยะลาและเบตง รถออกเวลา 8.00 น. 10.00 น. และ 13.00 น. หากเดินทางจากกรุงเทพฯ มีบริการรถโดยสารไปยังยะลาและเบตง ติดต่อสถานีขนส่งสายใต้ โทร. 02-435-1199

พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ตั้งอยู่บนเนินเขาในตัวเมืองเบตง บริเวณวัดพุทธาธิวาส ถนนรัตนกิจ ลักษณะเจดีย์ก่อสร้างแบบศรีวิชัยประยุกต์ สีทองอร่าม สูง 39.9 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา จากเจดีย์สามารถมองเห็นทัศนียภาพของวัดและเมืองเบตงอีกมุมหนึ่งได้สวยงาม

น้ำตกอินทสร น้ำตกอินทสร อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตง 15 กิโลเมตร หรือเลยจากบ่อน้ำร้อนเบตงไปอีก 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากภูเขา รอบบริเวณปกคลุมด้วยป่าไม้ร่มรื่น และมีแอ่งน้ำสามารถว่ายน้ำเล่นและพักผ่อนได้เป็นอย่างดี

อุโมงค์ปิยะมิตร อุโมงค์ปิยะมิตร อยู่ที่บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ ใช้เส้นทางเดียวกับบ่อน้ำร้อนและน้ำตกอินทสร แต่อยู่เลยบ่อน้ำร้อนไปอีก 4 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นหมู่บ้านของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เดิมเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (เขต 2) อุโมงค์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นอุโมงค์คดเคี้ยวเข้าไปในภูเขายาวประมาณ 1 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 50-60 ฟุต ใช้เวลาในการขุด 3 เดือน มีทางเข้าออกหลายทาง ใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศและสะสมเสบียง บริเวณนี้จัดให้มีนิทรรศการแสดงภาพประวัติศาสตร์ รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตภายในป่า ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่งของเบตง เปิดให้เข้าชมเวลา 8.00 น-16.30 น.

ตัวเมืองยะลามีแหล่งท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ อาทิ เช่น

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่ถนนพิพิธภักดี หน้าศาลากลางจังหวัดยะลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยอดเสาหลักเมืองให้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2505 ภายในศาลประดิษฐานยอดเสาหลักเมือง ซึ่งสร้างด้วยแก่นไม้ชัยพฤกษ์สูง 50 เซนติเมตร วัดโดยรอบที่ฐาน 43 นิ้ว ที่ปลาย 36 นิ้ว พระเศียรยอดเสาเป็นรูปพรหมจตุรพักตร์และเปลวไฟ บริเวณโดยรอบเป็นสวนสาธารณะ ร่มรื่น สวยงาม และจะมีการจัดงานสมโภชเจ้าพ่อหลักเมือง ระหว่างวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม ของทุกปี

มัสยิดกลางจังหวัดยะลา เป็นมัสยิดใหญ่ประจำจังหวัดยะลา มัสยิดแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สอดแทรกเส้นกรอบทรงสุเหร่าไว้ได้อย่างกลมกลืน ด้านหน้าเป็นบันไดกว้าง สูงประมาณ 30 ขั้น ทอดสู่ลานชั้นบน หลังคาทรงสี่เหลี่ยมมีโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง

สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) อยู่ถนนพิพิธภักดี มีพื้นที่ 80 ไร่ เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือก “พระเศวตสุรคชาธาร” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2511 ภายในสวนสาธารณะมีศาลากลางน้ำ รูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของจังหวัด

สวนขวัญเมือง หรือพรุบาโกย อยู่ที่ถนนเทศบาล 1 ห่างจากศาลหลักเมืองยะลาประมาณ 300 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 207 ไร่ จัดให้เป็นสนามกีฬาและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง จุดเด่นอยู่ที่สระน้ำใหญ่เนื้อที่ 69 ไร่ ซึ่งเทศบาลเมืองยะลาได้ตกแต่งพื้นที่โดยรอบเป็นหาดทรายและทิวสนจำลองทัศนียภาพของหาดทรายชายทะเลมาไว้ให้ชาวเมืองได้พักผ่อนหย่อนใจเนื่องจากจังหวัดยะลาไม่มีพื้นที่ติดต่อกับชายทะเล นอกจากนี้ยังเป็นที่จัดกิจกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียง มีสนามแข่งขันนกเขาชวาเสียงที่ใหญ่และมีมาตรฐานที่สุดในภาคใต้

ถ้ำศิลป์ ใช้เส้นทางเดียวกับวัดถ้ำคูหาภิมุข แต่ต้องเดินทางต่อไปอีกราว 1 กิโลเมตร มีแยกซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร ผ่านโรงเรียนบ้านถ้ำศิลป์ ไปเล็กน้อยด้านซ้ายมือมีทางเดินเล็ก ๆ ไปยังภูเขาริมถนน มีบันไดขึ้นไปยังปากถ้ำซึ่งสูงจากพื้นดิน 28 เมตร เป็นถ้ำเล็ก ๆ ภายในถ้ำมืดมาก มีภาพจิตรกรรมเก่าแก่บนผนังถ้ำ แต่ลบเลือนไปมากแล้ว เป็นภาพพระพุทธเจ้าปางต่าง ๆ และมีรูปผู้หญิงยืนเป็นหมู่สามคน เป็นภาพเขียนสมัยศรีวิชัยตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 การชมถ้ำต้องนำตะเกียงหรือไฟฉายไปด้วย

ถ้ำแม่นางมณโฑ อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 6 กิโลเมตร บนถนนสายยะลา-ยะหา หรือถึงก่อนวัดถ้ำคูหาภิมุขเพียง 1 กิโลเมตร สามารถติดต่อคนนำทางได้ที่เชิงเขา และเดินเท้าขึ้นเขาผ่านป่าละเมาะและเหมืองหินอ่อนไปยังถ้ำราว 15 นาที ภายในถ้ำคล้ายห้องโถงใหญ่มีทางเดินทะลุกันได้ บางช่วงมืดมากจึงจำเป็นต้องนำไฟฉายติดตัวไปด้วย จุดเด่นอยู่ที่สุดปลายถ้ำ ซึ่งมีหินงอกขนาดสูงใหญ่ มีลักษณะคล้ายผู้หญิงนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น