Custom Search

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา

คำขวัญประจำจังหวัดสงขลา
"นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้"
ซึ่งเปลี่ยนมาจากคำขวัญเมื่อจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติ คือ
"นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า เฟื่องฟ้าสุดสวย"
และคำขวัญท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยออกแคมเปญ Visit Thailand คือ
"นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานติณ ถิ่นธุรกิจแดนใต้"
ประวัติความเป็นมา ของจังหวัด สงขลา
มีตำนานและเรื่องเล่าหลายเรื่องทั้งที่เป็นบันทึกและจากคำบอกเล่าถึงชื่อของเมืองสงขลาหลายประการด้วยกัน ซึ่งพอจะแจกแจงตามเอกสารที่มาได้ดังนี้
ชื่อเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง และในเอกสารที่บันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองสงขลาว่า มาจากบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ในนามของเมือง “ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา” แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า “เมืองสิงขร” โดยได้สันนิษฐานว่าคำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สิงหลา” หรือ “สิงขร” แปลว่าเมืองสิงห์ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดีย ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แล่นเรือผ่านมาค้าขายและแลเห็นเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งเมื่อมองจากทะเลเข้าหาฝั่งในระยะไกล ๆ จะเห็นปรากฏเป็นภาพคล้ายสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองสงขลาในสมัยนั้นว่า “เมืองสิงหลา” ส่วนคนไทยเรียกว่า "เมืองสทิง” เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลา ก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น “เซ็งคอรา” เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ “ซิงกอรา” (Singora) จากนั้นคนไทยพื้นถิ่นเองก็ได้เรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า “สงขลา” ดังปัจจุบัน
นอกเหนือจากนี้ เอกสารชิ้นนี้ยังอธิบายต่อถึงความเป็นไปได้อีกสาเหตุหนึ่งว่า คำว่าสงขลาน่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “สิงขร” ที่แปลว่าภูเขา เนื่องจากเมืองสงขลาในยุคดั้งเดิมตั้งอยู่เชิงเขา และต่อมาเจ้าเมืองคนแรกยังได้รับพระราชทานนามว่า “วิเชียรคีรี” ซึ่งสอดคล้องกับเมืองที่อยู่แถบภูเขา สอดคล้องกับสุภาวดี เชื้อพรามณ์ ที่ได้บันทึกว่าสงขลาเพี้ยนมาจากภาษาสันสกฤตหรือภาษาบาลี เนื่องจากชาวอินเดียล่องเรืออ้อมแหลมมลายูมาสู่ฝั่งตะวันออก เมื่อมองจากทะเลเข้าสู่ฝั่งสงขลาแลเห็นภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ จึงเรียกว่า สิงขระ หรือ สิงขร ซึ่งคำไทยสิงขร หมายถึง ภูเขา ต่อมาชาวตะวันตกจึงเรียกตาม และเพี้ยนเป็นคำว่า ซิงโกรา หรือ ซิงกอรา เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
เหตุผลสุดท้ายที่เอกสารในเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ก็คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชวินิจฉัยไว้ว่า “สงขลา” เดิมชื่อสิงหนคร (สิง-หะ-นะ-คอน) แต่แขกชาวมลายูพูดเร็วและออกเสียงเพี้ยนกลายเป็น สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอราในส่วนเอกสารของชาวตะวันตกที่กล่าวถึงสงขลาในช่วงเวลาต้น ๆ ซึ่งสามารถค้นย้อนหลังไปได้ถึงสามร้อยปีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยปรากฏชื่อเมืองสงขลาในแผนที่ของประเทศสยามที่ทำโดยนายเชอวาลีเย เดอ โชมอง ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2228
พื้นที่
7,393.889 ตร.กม.(อันดับที่ 26)
ประชากร
1,335,768 คน (พ.ศ. 2551)(อันดับที่ 11)
ความหนาแน่น
180.66 คน/ตร.กม.(อันดับที่ 14)
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-ตรัง-พัทลุง-สงขลา รวมระยะทาง 950 กิโลเมตร
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดบริการเดินรถระหว่าง กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน ทั้งรถด่วนและรถเร็ว สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690, 02-223-7010, 02-223-7020 หรือ
ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ โทร. 074-243-705, 074-238-005
www.railway.co.th
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทาง กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ-สงขลาบริการทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 13 ชั่วโมง สอบถามเพิ่มเติมติดต่อขนส่งสายใต้
โทร. 02-435-1199-200 (ปรับอากาศ) และ โทร. 02-434-5557-8 (รถธรรมดา) หรือหาดใหญ่ ติดต่อบริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 074-232-789, 074-232-404 บริษัท ปิยะทัวร์ จำกัด โทร. 074-428-972 บริษัท ไทยเดินรถ จำกัด โทร. 074-429-525
www.transport.co.th
เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด และบริษัท แอร์เอเซีย จำกัด มีบริการเครื่องบินโดยสาร กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทการบินไทย
โทร. 1566, 02-280-0060, 02-628-2000 หรือ สำนักงานการบินไทยหาดใหญ่ โทร. 074-245-851-2, 074-233-433
บริษัทแอร์เอเซีย จำกัด โทร. 02-515-9999 หรือสำนักงานแอร์เอเซียหาดใหญ่ โทร. 074-250-440 www.airasia.com

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา

หาดสมิหลา
สงขลาเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายโดยผมเองได้ไปบ่อยพอสมควรเพราะว่า เจ้านาย เป็นคนหาดใหญ่ ก็เลยแวะเที่ยวหลายที่เหมือนกัน แต่ที่ชอบมากเห็นจะไม่พ้น หาดสมิหลา ซึ่ง มีหาดทรายขาวสะอาด และทิวสนอันร่มรื่น มีร้านขายอาหารอยู่มาก การเดินทางจากหาดใหญ่ใช้รถประจำทางสายหาดใหญ่-สงขลา แต่หากอยู่ในตัวเมืองสงขลาก็มีรถสองแถว บริการจากตัวเมืองไปยังชายหาดในราคาไม่แพงนัก ชายทะเลเมืองสงขลาซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกธรรมชาติ ที่ต้อนรับผู้มาเยือนเรื่อยมาจนปัจจุบัน หาดสมิหลาอยู่ทางตอนเหนือของชายทะเลเมืองสงขลาถัดจากแหลมสนอ่อนทอดยาวไปจรดแหลมสมิหลาที่อยู่ท้ายหาดทางด้านใต้ เป็นชายหาดสวยงามน่าเดินเล่น ทรายขาวละเอียด น้ำไม่ลึกมาก เล่นน้ำได้ดี ตลอดแนวจัดเป็นสถานที่พักผ่อน ทางวิ่งออกกำลังกาย จุดชมวิวที่มีทิวทัศน์ของเกาะหนู เกาะแมวเป็นฉากหลัง มีปฏิมากรรมรูปนางเงือกนั่งอยู่บนโขดหิน อันเป็นสัญลักษณ์ของสมิหลา พร้อมด้วยรูปปั้นแมวและหนูที่บอกเล่าตำนานของเกาะหนูเกาะแมว เป็นที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวตั้งใจมาเยือนเมื่อมาถึงจังหวัดสงขลา
นอกจากนี้เรายังจะได้ชมประติมากรรมต่างๆ ที่หาดสมิหลานี้
ประติมากรรมหนูและแมวกับลูกแก้ววิเศษ ติดตั้งอยู่ใกล้ปลายแหลมสมิหลาถัดจากประติมากรรมนางเงือกเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการบอกเล่าเรื่องราวนิยายปรัมปราของคนสงขลาเช่นกัน เนื้อหาเกี่ยวกับเกาะหนู เกาะแมว ที่ตระหง่านอยู่ในทะเลด้านหน้าชายหาดสมิหลา ส่วนลูกแก้วเป็นตัวแทนของหาดทรายแก้ว หาดทรายบนชายฝั่งอำเภอสิงหนครที่อยู่ตรงข้ามกับหาดสมิหลา
ประติมากรรมประตูเมืองสงขลา ติดตั้งอยู่ใกล้ปลายแหลมสมิหลาเช่นกัน ซึ่งเป็นการจำลองประตูเมืองเก่าของเมืองสงขลาที่มีสถาปัตยกรรมงดงามจากในย่านกลางเมืองมาแสดงไว้ที่ชายหาด
ประติมากรรมพญานาคที่ให้คนจินตนาการว่านาคได้เลื้อยอยู่ใต้ดินตลอดแนวชายหาดสมิหลา โดยส่วนหัวพ่นน้ำอยู่ริมทะเลบริเวณสวนสองทะเล ส่วนสะดือโผล่ขึ้นจากดินบริเวณสระบัว และส่วนหางโผล่อยู่บริเวณชายหาดสมิหลาด้านถนนชลาทัศน์
ประติมากรรมคนอ่านหนังสือ ซึ่งมีแผ่นจารึกข้อความ ไว้ว่า ความรู้สร้างคน...คนสร้างชาติ ความรู้คืออำนาจ...สร้างชาติต้องสร้างคน ติดตั้งอยู่กลางวงเวียนปลายแหลมสมิหลา ใกล้กับประติมากรรมนางเงือก เพื่อต้องการสื่อแสดงให้เห็นว่าสงขลาคือเมืองแห่งการเรียนรู้

ทะเลสาบสงขลา

ทะเลสงขลา หรือ ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยที่มีขนาดใหญ่ ที่สุดของประเทศไทย และนับได้ว่าเป็นทะเลสาบ น้ำกร่อยที่ใหญ่ที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญ ทะเลสงขลา มีวิวทิวทัศน์ ที่สวยงาม โดยมีพื้นที่ทั้งหมดของ ทะเลสาบสงขลา มากกว่า 1,040 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช
ภายใน ทะเลสาบสงขลา มีเกาะอยู่ หลายเกาะ อาทิเช่น เกาะสี่ เกาะห้า เกาะหมาก เกาะยอ เกาะนางคำ ซึ่งทางจังหวัดสงขลา ได้มีการพัฒนาให้เป็น แหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญของจังหวัดสงขลา
นักท่องเที่ยว สามารถเดินทาง ชมความสวยงามของธรรมชาติที่ ทะเลสาบสงขลา โดยการนั่งเรือหางยาวที่มีบริการนักท่องเที่ยว ตลอดทั้งวัน และมีนักท่องเที่ยว อีกไม่น้อย ชอบเดินทาง มาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ที่บริเวณ สะพานติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นสะพานคอนกรีต ที่มีความยาวที่สุดของประเทศไทย เป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อต่อระหว่างอำเภอเมืองสงขลา กับตำบลเกาะยอ อำเภอสิงหนคร
สำหรับนักท่องเที่ยว ที่ชอบการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ และชอบอะไร ที่เป็นธรรมชาติ ทะเลสาบสงขลา น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจาก ความสมบูรณ์ ของธรรมชาติ ที่ทำให้ สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่ง ที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ทำให้มีห่วงโซ่อาหารเกิดขึ้นต่างๆ มากมาย และสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการส่องดูนก ทะเลสาบสงขลาก็มีนกมากมายหลายชนิด มีให้เลือกดู รับรองไม่ผิดหวังโดยเฉพาะ นกน้ำคูขุด ทีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้นใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชและเป็นศาลากลางจังหวัดจนถึงปี พ.ศ. 2496 ในปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารนี้เป็นโบราณสถานและปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง อาทิ บานประตูไม้เดิมของจวน เป็นศิลปะพุทธศตวรรษที่ 24 ทำด้วยไม้จำหลักเขียนสีและประดับมุกฝีมือช่างชาวจีนชั้นครู แสดงออกถึงคตินิยมในธรรมเนียมประเพณี วรรณคดี ศาสนาตามแบบจีนที่วิจิตรงดงามยังความสมบูรณ์อยู่มาก โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีจากบ้านเชียง และกาญจนบุรี
เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 7431 1728

พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์
( พะธำมะรง) ตั้งอยู่ที่ถนนจะนะใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งบ้านพักเดิมของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลา จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำสงขลา “ พะทำมะรง ” เป็นตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีควบคู่กับตำแหน่งพัสดีปรากฎหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และอัยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอดจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น.
สะพานติณสูลานนท์ เป็นสะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในประเทศไทย อยู่ใน อำเภอเมืองสงขลา และอำเภอสิงหนคร โดยเชื่อมเกาะยอ 2 ด้าน ระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา และบ้านเขาเขียว อำเภอสิงหนคร ความยาวของสะพาน 2 ช่วง 940 เมตร และ 1,700 เมตร ตามลำดับ ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2529 สมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี
ชาวบ้านในจังหวัดสงขลานิยมเรียกว่า สะพานติณ สะพานเปรม หรือสะพานป๋าเปรม นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งจังหวัดสงขลา

เขาตังกวน
บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว และยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลาได้ และก่อนถึงยอดเขาตังกวนจะมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2431

วัดจะทิ้งพระ
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลจะทิ้งพระ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสทิงพระประมาณ 200 เมตรเดิมเรียกว่า“ วัดสทิงพระ ” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1542 ภายในวัดมีโบราณสถานซึ่งเป็นศิลปะสมัยศรีวิชัยที่น่าสนใจ เช่น เจดีย์พระมหาธาตุ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ที่ภายในวิหารมีภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก หอระฆังโบราณ วัดจะทิ้งพระ จะมีงานสมโภชน์พระพุทธไสยาสน์และพระเจดีย์ เป็นประจำปีทุกปี ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6

วัดหาดใหญ่ใน
ตั้งอยู่ถนนเพชรเกษมใกล้สะพานคลองอู่ตะเภา เป็นที่ประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ยาว 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ชื่อ “ พระพุทธหัตถมงคล ” ที่ว่ากันว่าใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมไปนมัสการ
วัดมัชฌิมาวาส
( วัดกลาง) อยู่ที่ถนนไทรบุรี เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา อายุ 400 ปี สร้างตอนปลายอยุธยา เดิมเรียกว่าวัดยายศรีจันทร์ กล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบ ทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า “ วัดกลาง ” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดมัชฌิมาวาส ” โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสคราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2431 ในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดงที่มีการค้าขายกันคึกคัก ซุ้มประตู เป็นศิลปะจีนกับยุโรป และมีพิพิธภัณฑ์ “ ภัทรศิลป ” เป็นที่เก็บพระพุทธรูป วัตถุโบราณ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์-อังคารและวันหยุดราชการ เวลา 13.00 - 16.00 น.
น้ำตกโตนงาช้าง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง
(หากใครได้ไปต้องตกตะลึงและชอบในความสวยงามแน่ๆครับ)
น้ำตกโตนงาช้าง เป็น น้ำตกที่ถูกจัดว่าสวยที่สุดของภาคใต้ อยู่ในท้องที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คำว่าโตน เป็นภาษาท้องถิ่น มีความหมายว่า น้ำตก แต่ด้วยความผันผวนทางการเมืองในภาคใต้ ป่าโตนงาช้างถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงที่ถูกปิดเป็นเวลาประมาณ 15 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2519 กรมป่าไม้โดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจ และพิจารณาเห็นว่าป่าโตนงาช้างเป็นป่าผืนใหญ่ผืนหนึ่งติดกับประเทศมาเลเซีย เป็นป่าที่สมบูรณ์มีสัตว์ป่าชุกชุมและคาดว่าอาจมีแรดอาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วย เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่มีลำธารหลายสายไหลลงสู่ที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลาหล่อเลี้ยงพื้นที่กสิกรรมหลายแสนไร่ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า(ในเวลานั้น) กรมป่าไม้ เล็งเห็นว่าควรจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อควบคุมและป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้านสัตว์ป่าและป่าไม้ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ตลอดจนสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีความสำคัญต่อสัตว์ป่าให้คงอยู่อย่างถาวร จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างเมื่อวันที่ 2 กรกฎาค พ.ศ. 2521 สำนักงานเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้างตั้งอยู่ที่บริเวณน้ำตกโตนงาช้าง ท้องที่ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ 26 กิโลเมตร เริ่มจากหาดใหญ่ไปตามถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ - รัตภูมิ ถึงกิโลเมตรที่ 13 บ้านหูแร่ มีเส้นทางเข้าน้ำตกโตนงาช้างเป็นระยะทางอีก 13 กิโลเมตร อาณาเขตของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างครอบคลุมท้องที่ตำบลทุ่งตำเสา ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ ตำบลท่าชะมวง ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาและตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล มีพื้นที่ทั้งสิ้น 182 ตารางกิโลเมตร หรือ 113,721ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศทั้งหมดเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มียอดเขาสูงสุด 932 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตามภูเขาด้านทิศตะวันออกบางส่วนเป็นหน้าผาสูงชันเป็นทัศนียภาพที่แปลกตา มองเห็น
ทะเลสาบสงขลาได้ สภาพป่าสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา เช่น คลองโตนงาช้าง คลองโตนปลิว คลองลำแชง คลองบริพัตร คลองดุสม คลองต่ำ เป็นต้น ภูเขารอบนอกลดระดับของลำธารแต่ละแห่งอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดน้ำตกตามลำธารใหญ่น้อย ทั่วไป เช่น น้ำตกโตนงาช้าง น้ำตกโตนปลิว น้ำตกคลองลำแชง น้ำตกบริพัตร และน้ำตกปาหนัน
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้เข้าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ไม่นำอาวุธหรือเครื่องมือล่าสัตว์ป่าเข้าไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่พนักงาน
ไม่นำวัตุระเบิด ดอกไม้เพลิง ประทัด หรือสิ่งอื่นที่จะเป็นอันตรายแก่สัตว์ป่า เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ไม่นำยานพาหนะ หรือ สัตว์เลี้ยงเข้าไปเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก เจ้าหน้าที่พนักงาน
ไม่ทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น
ไม่ส่งเสียงดัง หรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้สัตว์ป่าตื่นตกใจ
ไม่เข้าไป หรืออยูในระหว่างพระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น เว้นแต่ ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่พนักงาน เดินทางเข้าและออกตามเส้นทาง ที่มีเจ้าพนักงานประจำอยู่เท่านั้น
สภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศเย็นสบายทุกฤดูกาล ในฤดูฝนมีฝนตกมากระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม
พรรณพืช
ป่าทั้งหมดเป็นป่าดงดิบชื้นทั่วทั้งป่า ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ คือ ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ไข่เขียว กะบาก มะม่วงป่า จำปาป่า เสียดช่อ หลันตัน และพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์ป่า ได้แก่ มะขามป้อม เงาะป่า มะปริง มะม่วงป่า หว้า คอแลน ชมจง เหรียง ไทร กระท้อน สะตอ ก่อ พวง ทองบึ้ง ขนุนปาน มะหาด เป็นต้น
สัตว์ป่า
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ซึ่งแยกประเภทได้ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ช้างป่า สมเสร็จ เลียงผา เสือโคร่ง เสือดำ เสือปลา เก้ง หมาป่า กระจง หมี ชะมด ค้างคาว กระรอกชนิดต่าง ๆ ชะนี ลิง ค่าง เป็นต้น สัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกหว้า ไก่จุก นกเงือก และนกอื่น ๆ เท่าที่สำรวจพบมีราว 200 ชนิด
จุดเด่นที่น่าสนใจ
ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างมีน้ำตกหลายแห่งที่สวยงาม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไปตลอดจนชาวต่างประเทศ เส้นทางคมนาคมสะดวก คือ
น้ำตกโตนงาช้าง เป็นน้ำตกที่สวยงามของภาคใต้ อยู่ใน.ท้องที่อำเภอหาดใหญ่ ใกล้สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง
น้ำตกโตนปลิว อยู่ทางด้านทิศเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ในท้องที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ 28 กิโลเมตร
น้ำตกบริพัตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ในท้องที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ห่างจากถนนสายรัตภูมิ - สตูล เพียง 800 เมตร
ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างมีเส้นทางเดินเท้าชมธรรมชาติและสัตว์ป่า ที่พักแรม ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว นอกจากนั้นในบริเวณน้ำตกโตนงาช้างยังเป็นที่ตั้งของสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าหาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาความรู้เกี่ยวธรรมชาติและสัตว์ป่า ประกอบด้วยธรรมชาติริมลำธารน้ำตกโตนงาช้าง ป่าดงดิบ พรรณไม้นานาชนิด เส้นทางเดินชมธรรมชาติและสัตว์ป่าบางชนิดไว้ให้ชม
การเดินทาง
โดยทางรถยนต์ เริ่มจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปตามถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ - รัตภูมิ ถึงกิโลเมตรที่ 13 แยกซ้ายเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง 13 กิโลเมตร ถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง รวมระยะทางหาดใหญ่ถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง 26 กิโลเมตร
การติดต่อ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ตู้ ปณ. 83 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆอีกมากมายในจังหวัดสงขลาครับ ดังนี้
น้ำตกบริพัตร วนอุทยานน้ำตกบริพัตร ห่างจากอำเภอเมือง 52 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 406 ระหว่างกิโลเมตรที่ 35-36 แยกจากปากทาง 800 เมตร เป็นน้ำตกเล็ก ๆ มีน้ำตลอดปี อยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี เหมาะกับการเล่นน้ำ สามารถเดินขึ้นไปตามบันไดหินเลียบเขา ชั้นบนมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ อีก 1 แห่ง

อุทยานนกน้ำคูขุด หรือ ทะเลสาปคูขุด เป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 นับเป็น อุทยานนกน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเอเซีย มีพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร เท่าที่สำรวจพบนกชนิดต่างๆ ถึง 112 ชนิด เป็นนกนางแอ่น นกกระยาง นกพริก ระยะที่ เหมาะสมแก่การชมนก คือ ระหว่าง เดือนธันวาคม - พฤษภาคม เรือชมนกมีความจุ 6-20 คน สามารถเช่าได้จากบริเวณที่ทำการของอุทยาน ในราคาลำละประมาณ 150-200 บาท ใช้เวลาชมราว 1 ชั่วโมง 30 นาที
วัดพะโคะ (เดิมชื่อ วัดหลวง) ปัจจุบันชื่อ วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่ บริเวณเขาพัทธสิงค์ หมู่ที่ 6 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ปี พ.ศ. 1919-2039 สมัยอยุธยาตอนต้น ชาวเผ่าอินโดนีเซีย จากปลายคาบสมุทรมลายูบริเวณหมู่เกาะ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่เจริญซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม มีการ ติดต่อกับชาวอาหรับเปอร์เซีย ตั้งแต่ตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ได้ส่งกองโจรสลัดมาทางมหาสมุทรเพื่อปล้นสะดมชุมชนต่าง ๆ ทางตอนกลางคาบสมุทรมลายูมีหลักฐานบันทึกในหนังสือเรื่องกัลปนาวัดในสมัยอยุธยากล่าวถึง โจรสลัดยกทัพยก กำลังเข้าปล้นตีเมืองพะโคะ แถบคาบสมุทรสทิงพระหลายครั้ง
พ.ศ. 2057 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้สร้างวัดพะโคะ (เดิมชื่อ วัดหลวง) ต่อมา ได้สร้างวัดพะโคะ บนเขาพะโคะ ปัจจุบันชื่อ เขาพัทธสิงค์
พ.ศ. 2091 - 2111 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้รับพระราชทานที่กัลปนาวัด เรียกว่า วัดราชประดิษฐาน
พ.ศ. 2148 - 2158 สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้บูรณะพระมาลิกเจดีย์สูง 1 เส้น 5 วา และได้พระราชทานยอดพระเจดีย์เนื้อเบญจโลหะ ยาว 3 วา 3 คืบ

เกาะยอ อยู่ในทะเลสาบสงขลา มีสวนผลไม้นานาชนิด และมีโบราณสถานเช่นวัดเขาบ่อ วัดท้ายยอซึ่งวัดนี้มีเจดีย์เก่าแก่อยู่บนเนินเขา การเดินทางไปยังเกาะยอนั้น มีเรือโดยสารไป-มาระหว่างตลาดสดสงขลากับเกาะยอ หรือจะเดินทางมาตามเส้นทาง สงขลา-หาดใหญ่ แล้วเลี้ยวขวาที่สี่แยก บ้านน้ำกระจาย ข้ามสะพานติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นสะพานยาวที่สุดในประเทศไทย
เขาน้อย อยู่เลยเขาหลวงไปตามถนนเพชรเกษมไม่ไกลนัก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาน้อยเทียมสวรรค์เป็นวัดเก่าแก่ พระอุโบสถหลังเก่าสร้างด้วยศิลา- แลงทั้งหลัง ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป 2 องค์ ประทับนั่งหันหลังให้กัน เป็นพระที่สร้างด้วยศิลาแลง ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อเขาน้อย และเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ที่เขาน้อยยังมีสวนสรี ใกล้แหลมสมิหลา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง บริเวณสวนตกแต่งด้วยต้นไม้จัดเป็นรูปต่าง ๆ
หาดสะกอม อยู่ทางใต้ของเส้นทางสงขลา-จะนะ-เทพา ห่างจากตัวเมืองสงขลาระยะทาง 53 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอจะนะ 15 กิโลเมตร มีถนนลูกรัง เข้าถึงชายหาดซึ่งมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร นับเป็นสถานที่เหมาะแก่การพักผ่อนแคมป์ปิ้ง และสามารถเช่าเรือประมงข้ามไปตกปลาที่เกาะขามซึ่งมีปลาชุกชุม อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร
เจดีย์บรรจุบรมธาตุวัดชัยมงคล อยู่ภายในบริเวณวัดชัยมงคลหลังสถานีรถไฟสงขลา พระบรมธาตุที่บรรจุในเจดีย์นี้เป็นพระบรมธาตุที่ได้มาจากลังกาประมาณ พ.ศ. 2435
สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา บริเวณใกล้เชิงสะพานติณฯ ตอนเหนือ และอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 4146 มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ 1 งาน 39.9 ตารางวา พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ บริเวณเชิงเขาและอีกส่วนหนึ่งอยู่บนยอดเขา และเมื่อขึ้นไปอยู่บนสุดของพื้นที่ จะสามารถมองเห็นทะเลสาบ ส่วนที่ล้อมเกาะทั้ง 3 ด้านเป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ 2521เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้และมีการจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับศิลปวัฒน-ธรรมของภาคใต้ไว้ เป็นที่น่าสนใจมาก เช่นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จิตรกรรมฝาผนังเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ตลอดจนผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่างๆ สถาบันทักษิณคดีศึกษา ประ-กอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน คือ พิพิธภัณฑ์-คติชนวิทยา อุทยานวัฒนธรรมศูนย์วิทย- บริการด้านวัฒนธรรม งานส่งเสริมและเผยแพร่และหมู่บ้านวัฒนธรรมสาธิต สถาบันเปิดให้ผู้สนใจชมในเวลา ราชการทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 5 บาท
หาดสร้อยสวรรค์ เป็นสถานที่พักผ่อนริมทาง ซึ่งแขวงการทางหลวง จัดหวัดสงขลา จัดสร้างให้นักท่องเที่ยวแวะพักผ่อนขณะเดินทางไกล อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 27 ช่วงอำเภอเทพา เป็นหาดทรายขาวสะอาดสวยงาม มีความยาวประมาณ 3-4 กิโลเมตร
หาดเก้าเส้ง อยู่ทางทิศใต้ของหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร มีถนนแยกจากถนนไทรบุรี ตรงสามแยกสำโรง (โรง-พยาบาลประสาท) เป็นหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งของสงขลา มีโขดหินระเกะ-ระกะอยู่ริมทะเล และ มีอยู่ก้อนหนึ่งตั้งเด่นอยู่เหนือโขดหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า "หัวนายแรง" ซึ่งมีประวัติความเป็นมาว่า นายแรงเป็นพ่อค้าสำเภาที่ร่ำรวยมาก เมื่อทราบข่าวว่า มีการสร้างพระธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช ก็แล่นเรือ ไปเพื่อจะร่วมบุญ ในการสร้างด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อเรือมาถึงสงขลา เกิดพายุเรือแตก ได้จอดซ่อมเรือที่บริเวณหาดเก้าเส้งจนกระทั่ง ทราบข่าวว่า พระธาตุเมืองนครสร้างเสร็จ เรียบร้อยแล้ว นายแรงมีความเสียใจเป็นอย่างมาก ที่ไม่มีส่วนร่วมบุญ และล้มป่วยไข้ จึงขนทรัพย์สมบัติจำนวน แสนฝังไว้ที่เชิงหน้าผา และอธิษฐานว่าขอให้มีเรี่ยวแรงยกก้อนหินใหญ่มาปิดไว้ ก่อนตายได้อธิษฐานว่าผู้ที่ จะมาเอาสมบัติดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นลูกหลานของนายแรงเอง หรือเมื่อพระธาตุมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ต้อง การที่จะนำเงินไป บูรณะปฏิสังขรณ์จนปัจจุบันนี้ยัง มิอาจหาผู้ใดมาผลักหินก้อนนี้ตกหน้าผาได้
หาดทรายแก้ว อยู่ห่างจากตัวเมือง 7 กิโลเมตร ตามเส้นทางสงขลา-สทิงพระ เป็นหาดทรายยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีโรงแรมที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ตามเส้นทางสงขลา-สทิงพระ ยังมีหาดทรายอื่น ๆ อีก เช่น หาดสทิงพระและหาดม่วงงาม
วัดถ้ำเกาะ อยู่ห่างจากสามแยกสำโรงตามเส้นทางสายสลขลา-นาทวี ประาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่บนยอดเขา ประชาชนนิยมไปกราบไหว้บูชาติดกับวัดถ้ำเกาะ
หาดม่วงงาม อยู่ด้านใต้หาดสทิงพระลงมา 16 กิโลเมตร ห่างจากสงขลา 20 กิโลเมตรครับ ในเขตตำบลม่วงงาม อำเภอเมือง จากถนนสายสงขลา-สทิงพระ กิโลเมตรที่ 18 จะมีทางแยกสู่ชายหาดเป็นถนนลูกรัง 1 กิโลเมตรครับ เป็นหาดยาวเหยียดทรายขาวสะอาดสวยงาม ยาว 3 กิโลเมตร ลักษณะเหมือนหาดสทิงพระ
วัดถ้ำตลอด ตั้งอยุ่ที่บ้านถ้ำตลอด หมู่ที่ 6 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อยประมาณ 25 กิโลเมตร ตามถนนสาย รพช. (ต.สะบ้าย้อย-ต.เขาแดง) วัดถ้ำตลอด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บริเวณวัดมีถ้ำสวยงามมากเรียกกันว่า "ถ้ำตลอด" มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ขนาดใหญ่ ผ่าผ่านทะลุออกไปอีกฟากหนึ่งของภูเขา บริเวณถ้ำมี 3 คูหา มีพระพุทธรูปเก่าแก่สร้างด้วยไม้โบกปูนซีเมนต์ มีอายุหลายร้อยปีอากาศร่มรื่น เย็นสบาย เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
ถ้ำรูนกสัก ตั้งอยู่หมุ่ที่ 4 ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อยประมาณ 14 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีป้ายด้านขวามือแสดงเส้นทางเข้าไปยังถ้ำรูนกสัก ซึ่งเป็นถ้ำที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง มีลำธารไหลผ่านกลางถ้ำ มีหินงอกหินย้อยรูปร่างลักษณะต่าง ๆ มากมาย เป็นถ้ำที่ทะลุถึงกัน ยาวประมาณ 300 เมตร
สวนสาธารณะเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ริมถนนกาญจนวณิชย์ เส้นทางหาดใหญ่-สงขลา ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ 6 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของชาวหาดใหญ่ และบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติ บริเวณสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม มีศาลากลางน้ำ และสวนสัตว์
ตัวเมืองหาดใหญ่ เป็นเมืองที่ทันสมัยประกอบด้วยอาคาร บ้านเรือน ร้านค้าพาณิชย์ต่าง ๆ มากมาย ท่านอาจจะเดินชมสินค้าต่าง ๆ อย่างเพลิดเพลินโดยตั้งต้นจากจุดหนึ่งในย่านกลางเมือง เช่น ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1,2 และ 3 แล้วท่านจะพบสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์การค้ามีหลายแห่ง บริเวณถนนเสน่หานุสรณ์ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ถนนเพชรเกษมและบริเวณสถานีรถไฟหาดใหญ่ ซึ่งย่านการค้าเหล่านี้อยู่ในบริเวณใจกลางเมือง ท่านสามารถเดินทางไปถึงได้อย่างสะดวก ราคาสินค้าที่นำเข้ามาจากทางมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ถือว่าราคาถูกพอสมควรเลยทีเดียวเชียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น