Custom Search

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2552

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุง

ตราประจำจังหวัดพัทลุง"รูปภูเขาอกทะลุ"
พัทลุง ในสมัยก่อนชื่อเมืองพัทลุง ไม่ได้เขียนอย่างที่ปรากฏให้เห็นจากหลักฐานพบว่าบนเหรียญอีแปะพัทลุง พ.ศ. 2426 เขียนว่า พัททะลุง และพัตลุง ในเอกสารของไทย ใช้ต่างกันมากมายได้แก่ พัตะลุง พัดทลุง พัทธลุง พัตทลุง พัฒลุง พัทลุง ในเอกสารเบอร์นีของอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนว่า Bondelun และ Merdelong ของนายลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนว่า Bourdelun ความหมายของชื่อเมืองหมายถึงเมืองช้างหรือเมืองเกี่ยวเนื่องด้วยช้างซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ คำว่า “พัต-พัท-พัทธ” ยังไม่อาจทราบได้ว่าคำเดิมเขียนอย่างไร คำไหน ทราบเพียงว่าใช้เป็นคำขึ้นต้น ส่วนคำพื้นเมืองที่เรียกว่า“ตะลุง” แปลว่าเสาล่ามช้างหรือไม้หลักผูกช้างชื่อบ้านนามเมืองของพัทลุงที่เกี่ยวกับ ช้างมีมากหรือจะเรียกว่าเป็น“เมืองช้าง” ก็ได้โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในแถบชะรัดซึ่ง อยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด มีช้างป่าชุกชุม และในตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุงกล่าวว่า ตาสามโมยายเพชรเป็นหมอสดำหมอเฒ่านายกองช้าง เลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทองทุกปี ต่อมาพระกุมารกับนางเลือดขาวก็ได้รับมรดกเป็นนายกองเลี้ยงช้าง ส่งส่วย
พัทลุง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานจากการค้นพบขวานหินขัดในท้องที่ทั่วไปหลายอำเภอในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 –14 ) บริเวณเมืองพัทลุงเป็นแหล่งชุมชนที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดีย ในด้านพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีหลักฐานค้นพบ เช่น พระพิมพ์ดินดิบจำนวนมากเป็นรูปพระโพธิสัตว์ รูปเทวดาโดยค้นพบบริเวณถ้ำคูหาสวรรค์ และถ้ำเขาอกทะลุ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองพัทลุงได้ตั้งขึ้นอย่างมั่นคงภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นเมืองชั้นตรี ซึ่งนับได้ว่าเป็นหัวเมืองหนึ่งของพระราชอาณาจักรทางใต้ ในสมัยนั้นเมืองพัทลุงมักจะประสบปัญหา การโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดมาเลย์อยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มโจรสลัดราแจะอารู และ อุยงคตนะ ได้โจมตีเผาทำลายสร้างความเสียหายแก่เมืองพัทลุงถึงสองครั้ง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอยู่เสมอ และก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวเมืองพัทลุงเป็นนักต่อสู้ที่เข้มแข็ง ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ได้มีการย้ายสถานที่ตั้งเมืองอีกหลายครั้งและได้ยกขึ้นเป็นเมืองชั้นโทในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงนี้เมืองพัทลุงมีผู้นำที่มีความสำคัญในการสร้างความเจริญ และความมั่นคงให้กับบ้านเมืองหลายท่าน อาทิ พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว) พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทร์โรจน์วงศ์) (ขำ) ส่วนประชาชนชาวเมืองพัทลุงก็ได้มีบทบาทในการร่วมมือ กับผู้นำต่อสู้ป้องกันเอกราชของชาติมาหลายครั้ง เช่น เมื่อสงครามเก้าทัพ (พ.ศ.2328 – 2329) พระมหาช่วย วัดป่าเลไลได้นำชาวพัทลุงต่อสู้ป้องกันการรุกรานของพม่า จนได้รับความดีความชอบโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ช่วยราชการเมืองพัทลุงนอกจากสงครามกับพม่าแล้ว ชาวพัทลุงยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ของประเทศชาติในหัวเมืองภาคใต้ เพราะปรากฏอยู่เสมอว่าทางเมืองหลวงได้มีคำสั่งให้เกณฑ์ชาวพัทลุง พร้อมด้วยเสบียงอาหารไปทำสงครามปราบปรามกบฏในหัวเมืองมลายูเช่น กบฏไทรบุรี พ.ศ.2373 และ พ.ศ.2381 ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองพัทลุง ทางด้านการเมือง การปกครองในอดีตเป็นอย่างดี ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาลใน พ.ศ.2437 และได้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น เมื่อ พ.ศ.2439 ประกอบด้วยเมืองต่างๆ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และหัวเมืองทั้ง 7 ที่เป็นเมืองปัตตานีเดิม สำหรับเมืองพัทลุงแบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง อำเภออุดร อำเภอทักษิณ ขณะนั้นตัวเมืองตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ จนกระทั่ง พ.ศ.2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพัทลุงมาอยู่ที่ตำบลคูหาสวรรค์ในปัจจุบัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้เส้นทางรถไฟ และสะดวกในด้านติดต่อกับเมืองต่างๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน เมืองพัทลุงได้มีการย้ายเมืองหลายครั้ง สถานที่เคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงมาแล้ว ได้แก่โคกเมืองแก้ว ปัจจุบัน หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน บ้านควนแร่ ปัจจุบัน หมู่ที่ 1 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง เขาชัยสน(เขาเมือง) ปัจจุบัน เขต 3 ตำบล คือตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง ตำบลพนมวังก์ และ มะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน ท่าเสม็ด ปัจจุบัน ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เมืองพระรถ ปัจจุบัน หมู่ที่ 1 ตำบลควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง บ้านควนมะพร้าว ปัจจุบัน หมู่ที่ 2 ตำบลพญาขัน อ.เมืองพัทลุงบ้านม่วง ปัจจุบัน หมู่ที่ 2 ตำบลพญาขัน อ.เมืองพัทลุง บ้านโคกสูง ปัจจุบัน หมู่ที่ 4 ตำบลลำปำ อ.เมืองพัทลุง ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ ได้ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ทำให้เมืองพัทลุงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง ในปัจจุบันจังหวัดพัทลุง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ คือ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอกงหรา อำเภอตะโหมด อำเภอป่าบอน อำเภอศรีบรรพต อำเภอป่าพะยอม อำเภอบางแก้ว และ อำเภอศรีนครินทร์ นอกจากด้านการเมืองการปกครองแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม เมืองพัทลุงเคยมีชื่อเสียงในการละเล่นพื้นเมือง คือหนังตะลุง มโนราห์ ลิเกป่า ส่วนด้านศาสนา ได้มีการทะนุบำรุงพุทธศาสนาตั้งแต่อดีต มีการพระราชทานพื้นที่พระกัลปานา วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง วัดพะโค๊ะ เพื่อบำรุงรักษ าวัดให้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา
อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคา จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเทือกเขานครศรีธรรมราช หรือเขาบรรทัด เขตอำเภอห้วยยอด เมืองตรัง นาโยง ย่านตาขาว และปะเหลียน จังหวัดตรัง
การเดินทางไปจังหวัดพัทลุง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ตามทางหลวงหมายเลข 4 ถึงชุมพร (สี่แยกปฐมพร) แยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง จนถึงพัทลุง ระยะทางประมาณ 1,140 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 ตามทางหลวงหมายเลข 4 ถึงชุมพร ให้เข้าทางหลวงหมายเลข 41 จนถึงจังหวัดพัทลุง ระยะทาง 840 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 ตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 403 จากนั้นจึงเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ที่ชุมทางเขาชุมทอง จนถึงพัทลุง
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟผ่านอำเภอเมือง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง รายละเอียดสอบถาม โทร. 1690, 02-223-7010, 02-223-7020 สถานีรถไฟพัทลุง โทร. 074-613-106 http://www.railway.co.th/
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถกรุงเทพฯ – พัทลุง ทุกวัน มีรถออกที่สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-434-5557-8, 02-435-1199,
02-435-1200 http://www.transport.co.th/
เครื่องบิน จังหวัดพัทลุงไม่มีสนามบิน นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ตรังหรือ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและ ต่อรถโดยสารไปพัทลุง
ที่ตั้ง
จังหวัดพัทลุงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย ระหว่างละติจูดที่ 7 องศา 6 ลิปดาเหนือถึง 7 องศา 53 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 9 องศา 44 ลิปดาตะวันออก
ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสายเอเซีย (ทางหลวงหมายเลข 41) เป็นระยะทางประมาณ 858 กิโลเมตร และตามเส้นทางรถไฟระยะทางประมาณ 846 กิโลเมตร
ความยาวของจังหวัดจากทิศเหนือไปทิศใต้ประมาณ 78 กิโลเมตรและความกว้างจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร
มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,424.473 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,140,296 ไร่ (พื้นดิน 1,919,446 ไร่ พื้นน้ำ 220,850 ไร่)

สัญลักษณ์ประจำจังหวัดพัทลุง
ตราประจำจังหวัดพัทลุง ปรากฏเป็นรูปภูเขาอกทะลุซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัด ซึ่งภูเขาอกทะลุนี้ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมืองพัทลุง ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ มีบันไดทอดตัวยาวขึ้นจากเชิงเขาถึงถ้ำซึ่งเป็นรูอยู่ตรงกลางเพื่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมทิวทัศน์ของจังหวัดพัทลุงได้อย่างกว้างขวาง หากแต่ปัจจุบันยังขาดการดูแล ปรับปรุงและพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด
ดอกไม้ประจำจังหวัด: พะยอม (Shorea roxburghii)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: ดอกพะยอม (Shorea roxburghii)
คำขวัญประจำจังหวัด: เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุง

วัดถ้ำสุมโน อำเภอเมือง จ.พัทลุง

วัดถ้ำสุมโน อยู่ตำบลบ้านนา ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนเพชรเกษม (สายพัทลุง-ตรัง) ประมาณ 21 กิโลเมตร ตัวถ้ำห่างจากถนนประมาณ 500 เมตร เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยและมีห้องโถงกว้างขวางใหญ่โตและร่มเย็นวิจิตรตระการตาตามธรรมชาติซึ่งมีทั้งหมด 18 ถ้ำ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ หลายองค์ บริเวณถ้ำยังเป็นสถานที่วิปัสสนาและปฏิบัติธรรมอีกด้วย

น้ำตกไพรวัลย์ อำเภอกงหรา จ.พัทลุง

น้ำตกไพรวัลย์ เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดพัทลุง น้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาสูงชัน น้ำไหลแรงสามารถเล่นน้ำได้ในชั้นล่าง บริเวณโดยรอบเงียบสงบ มีต้นไม้นานาชนิดปกคลุมอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้น้ำตกมีน้ำตลอดทั้งปี ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา สามารถเดินทางจากบ้านคลองหมวยไปตามถนนตำบลลำสินธุ์ บ้านกงหรา (ทางหลวงหมายเลข 4122) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ทางเข้าน้ำตกอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นทางลูกรัง 3 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกมีลานจอดรถและร้านอาหารไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปยังชั้นบนของน้ำตกไพรวัลย์ได้ โดยการปีนไปตามทางซึ่งค่อนข้างชัน ชั้นนี้จะเล็กกว่าชั้นแรกมาก แต่น้ำไหลแรง มีแอ่งน้ำเล่นน้ำได้ ข้อสำคัญในช่วงหน้าฝนน้ำตกจะมีน้ำไหลแรงมาก นักท่องเที่ยวควรใช้ความระมัดระวังค่อนข้างมาก
วัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง
วัดเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เป็นวัดโบราณอายุกว่า 1,000 ปี โดยสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-1 ตามตำนาน "เพลาวัด" กล่าวถึงวัดเขียนบางแก้วว่า นางเลือดขาวกับพระยากุมาร เป็นผู้สร้างวัดขึ้น มีกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ เสร็จแล้วให้จารึกเรื่องราวการก่อสร้างลงบนแผ่นทองคำเรียกว่า "เพลาวัด" โดยสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.1492 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.1493 เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากเกาะลังกามาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์ อย่างไรก็ตามตำนานการสร้างวัดเขียนบางแก้ว มีประวัติจารึกเรื่องราวไว้หลายตำนาน เช่น ประวัติเขียนบางแก้วของ พระครูสังฆรักษ์ (เพิ่ม) กล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองพัทลุงเป็นผู้สร้างวัดขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน 8 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ.1482 (จ.ศ.301) พร้อมกับสร้างพระมหาธาตุและก่อพระเชตุพนวิหาร ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.1486 ส่วนทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า วัดเขียนบางแก้วสร้างเมื่อ พ.ศ.1482 จากหลักฐานทางเอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ 15-18 แต่นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และได้รับอธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ภายในบริเวณจัดได้พบโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ ศิวลึงค์และฐานโยนิ แสดงว่าบริเวณท้องที่แห่งนี้ มีการติดต่อรับอารยธรรมอินเดียมาตั้งแต่สมัยต้นประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และคงเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้วเป็นวัดที่มีความเจริญมาก เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งของคณะป่าแก้ว ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง เมืองพัทลุงเกิดสงครามกับพวกโจรสลัดมลายูเสมอๆ จนบางครั้งพวกโจรสลัดเข้ามาเผาผลาญบ้านเรือนราษฎร และวัดเสียหายเป็นจำนวนมากด้วยเหตุนี้วัดเขียนบางแก้วจึงทรุดโทรมเป็นวัดร้างชั่วคราว จนเมื่อชาวพัทลุงสามารถรวมตัวกันได้จึงบูรณะวัดขึ้นอีก และเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ดังปรากฏในหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง ในสมัยอยุธยากล่าวถึงการบูรณะวัดเขียบนบางแก้วครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือครั้งแรก ราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ระหว่าง พ.ศ.2109-2111 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้นำในการบูรณะคือ เจ้าอินบุตรปะขาวสนกับ นางเป้า ชาวบ้านสะทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน และครั้งที่ 2 สมัยพระเพทราชา พ.ศ.2242 ผู้นำในการบูรณะปฏิสังขรณ์คือ พระครูอินทเมาลีศรีญาญสาครบวรนนทราชจุฬามุนีศรีอุปดิษเถร คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง เมื่อได้ทำการบูรณะแล้วจึงเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอให้สมเด็จพระวันรัตน์นำถวายพระ ขอพระบรมราชานุญาตให้ญาติโยมที่ร่วมทำการบูรณะ เว้นเสียส่วยสาอากรให้ทางราชการ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามทูลขอทุกประการ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 วัดเขียนบางแก้วกลายเป็นวัดร้าง จนเมื่อมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เรื่อยมาตราบจนปัจจุบันพระมหาธาตุเจดีย์บางแก้ว เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานแปดเหลี่ยม วัดโดยรอบยาว 16.50 เมตร สูงถึงยอด 22 เมตร รอบพระมหาธาตุบริเวณฐานซุ้มพระพุทธรูปโค้งมน 3 ซุ้ม กว้าง 1.28 เมตร สูง 2.63 เมตร ภายในซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ รอบพระเศียรมีประภารัศมีรูปโค้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 0.94 เมตร สูง 1.25 เมตร ระหว่างซุ้มพระมีเศียรช้างปูนปั้นโผล่ออกมา เหนือซุ้มพระมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม อิทธิพลศิลปจีน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดสู่ฐานทักษิณ เหนือบันไดทำเป็นซุ้มยอดอย่างจีน มุมบันไดทั้ง 2 ข้าง มีซุ้มลักษณะโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนูนสูง ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานทักษิณและฐานรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ แต่เดิมเป็นรูปมารแบก เหนือฐานทักษิณมีเจดีย์ทิศตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่มุม องค์ระฆังเป็นแบบโอคว่ำถัดจากองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประดับด้วยถ้วยชาม ทั้งสี่มุมของบัลลังก์มีรูปกาปูนปั้นมุมละ 1 ตัว ซึ่งหมายถึงสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ทั้ง 4 (พระมหาพันธ์ ธมมนาโก สร้างไว้เมื่อ ปี 2515) ส่วนยอดสุดเป็นพานขนาดเล็ก 1 ใบ ภายในมีดอกบัวทองคำ จำนวน 5 ดอก 4 ใบ (ทองคำถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521) ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น วัดเขียนบางแก้ว กรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480 และประกาศเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529 เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา (กรมศิลปากร : 431)
ขอขอบคุณรูปและข้อมูลหลายๆอย่างของจังหวัดพัทลุงจาก http://www.muanglung.com/


เขาอกทะลุ
ภูเขาอกทะลุ เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดพัทลุง สูงประมาณ 250 เมตร มีทางสำหรับปีนขึ้นยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุงได้ ลักษณะพิเศษของภูเขาลูกนี้ คือ มีช่องที่มองลอดทะลุยอดภูเขาอยู่บริเวณเกือบตอนปลายของยอดเขา การเดินทางจากวัดคูหาสวรรค์มุ่งหน้าไปบนทางหลวงหมายเลข 4047 สู่สถานีรถไฟพัทลุงจะพบภูเขาอกทะลุ ตั้งตระหง่านอยู่ด้านตะวันออกของสถานีรถไฟ

หาดแสนสุขลำปำ ตำบลลำปำ เขตเทศบาลเมืองพัทลุง
หาดแสนสุขลำปำ เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลสาบสงขลา เป็นบริเวณที่ร่มรื่น อากาศเย็นสบายมองไปด้านหน้าเห็นทิวทัศน์ ของทะเลสาบสงขลา มีเกาะใหญ่ - เกาะน้อย รายเรียงสวยงามมาก ห่างจากริมฝั่งไปประมาณ 40 เมตรเศษ มีศาลาทรงไทย 1 หลัง เรียกว่า ศาลาลำปำที่รัก เดิมเคยมีผู้มาขอเช่าทำกิจการจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม แต่ในระยะหลังสังเกตได้ว่าความสนใจของประาชน เปลี่ยนแปลงวจากการนั่งในห้องแคบ ๆ เป็นที่โล่งแจ้ง จึงมีผู้นำอาหาร เครื่องดื่มและปลูกร้านค้าเล็ก ๆ ภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะบนเกาะลำปำ มีสะพานเชื่อมรถผ่านไปมาได้ ยาวประมาณ 40 เมตร เกาะนี้มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ ผู้คนมาใช้บริการโดยเฉพาะในวันหยุดราชการมีมากเป็นพิเศษ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักทัศนาจรจากต่างถิ่น และบริเวณใกล้เคียง เป็นชายหาดสำหรับการชมวิว นั่งพักผ่อน บางบริเวณสามารถเล่นน้ำได้ ตรงปากคลองลำปำภายในทะเลสาบตื้นเขิน จนกลายเป็นเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ กรมป่าไม้ได้ปลูกต้นสนไว้เป็นสวนป่า ทำให้ความร่มรื่นเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้เป็นอย่างดี เมื่อมองออกไปทางทะเลสาบจะเห็นเกาะสี่เกาะห้า ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออก นับเป็นจุดเดียวบนฝั่งทะเลสาบด้านตะวันตกที่เป็นจุดชมวิวที่สวยงาน บริเวณชายหาดส่วนนี้บางครั้งก็ใช้เป็นที่จัดงานเทศกาล เช่น งานลอยกระทง งานชักพระ ฯลฯ

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศฯ
พระสี่มุมเมืองหรือเรียกชื่อเต็มๆว่า "พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ" เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ และพระคู่บ้านคู่เมืองของพัทลุง ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจัตุรมุขหล่อด้วยสำริดปางสมาธิ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อ พ.ศ.2511 ตั้งอยู่ระหว่างศาลากลางกับศาลจังหวัดพัทลุง





อุทยานนกน้ำทะเลน้อย ในปี พ.ศ.2517 ราษฎรกลุ่มหนึ่งใน หมู่บ้านทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันเสนอต่อ นายผ่อง เล่งอี้ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดการสัตว์ป่า กองบำรุง กรมป่าไม้ ขอให้มีการจัดตั้ง "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย" เนื่องจากมีการล่านกที่อาศัยอยู่อย่างชุกชุมในพื้นที่ทะเลน้อย ทำให้จำนวนนกที่มีขนาดใหญ่ เช่น นกกาบบัว ลดลงเรื่อยๆ จนเกรงว่าถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ นกเหล่านี้จะต้องสูญพันธุ์ในไม่ช้า กรมป่าไม้จึงส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจสถาพพื้นที่และสัตว์ป่าในทะเลน้อย และได้ประกาศให้ทะเลน้อย ซึ่งมีพื้นที่ 17,500 ไร่ และพื้นที่ป่าในบริเวณใกล้เคียงคิดเป็นเนื้อที่รวมกันราว 285,625 ไร่ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นต้นมา แต่ชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า " อุทยานนกน้ำทะเลน้อย "

ภูมิศาสตร์ ของอุทยานนกน้ำทะเลน้อย คือ แหล่งน้ำอันต่อเนื่องกับทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่เหนือสุด โดยมีทะเลหลวงในเขตจังหวัดพัทลุงกั้นกลาง และ ทะเลสาบคูขุด อยู่ทางใต้ในเขตจังหวัดสงขลา มีอาณาเขตดังนี้ คือ ทิศเหนือ จดคลองชะอวด อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออก จดทะเลหลวง ทางหลวงหมายเลข 4083 อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ทิศใต้ จดคลองปากประ อำเภอควนขนุนจังหวัดพัทลุง ทิศตะวันตก จดฝั่งทะเลน้อยด้านตะวันตก อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาพพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยทั้งหมด 450 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยส่วนที่เป็นพื้นดินและพื้นน้ำ ส่วนพื้นดินมีเนื้อที่ 422 ตารางกิโลเมตร หรือ ร้อยละ 94 ของพื้นที่ทั้งหมด ลักษณภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายทะเลสาบ ประกอบด้วยนาข้าวและป่าหญ้า ป่าพรุและป่าเสม็ด เป็นแอ่งน้ำมีพืชปกคลุม และ ที่ราบเชิงเทือกเขาบรรทัด มีเนินเขาสูงราว 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นน้ำมีเนื้อที่ 28 ตารางกิโลเมตร หรือ ร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมด คือ ตัวทะเลน้อยนั่นเอง มีความกว้างราว 5 กิโลเมตร และยาว 6 กิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ยราว 1.2 เมตร ปกคลุมด้วยพืชน้ำต่างๆ เช่น บัว กระจูด หญ้าน้ำกก ปรือ และ กง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณน้ำตื้นและค่อนข้างนิ่ง
ภูมิอากาศของอุทยานนกน้ำทะเลน้อย ภูมิอากาศโดยทั่วไปในภาคใต้ส่วนใหญ่จะมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝนกับฤดูร้อนเท่านั้น ฝนจะเริ่มตกราวๆ เดือนสิงหาคม แต่ฤดูฝนจริงๆ จะเริ่มในเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนทีเหลือจะเป็นช่วงฤดูร้อนที่มีฝนตกบ้างประปราย เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมบก และลมทะเล จึงทำให้อากาศในเขตทะเลน้อยสดชื่นและเย็นสบายตลอดปี เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ
พืชพรรณในพื้นที่อุทยานนกน้ำทะเลน้อย พื้นที่ป่าในทะเลน้อยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ป่าพรุ ซึ่งมีพรรณไม้เด่นคือต้นเสม็ด อันเป็นแหล่งทำรังของนกน้ำขนาดใหญ่ เช่น นกกระสาแดงและนกกาบบัว ทุ่งหญ้า ประกอบด้วยต้นกกหรือลาโพ และหญ้าชนิดต่างๆ ป่าดิบชื้น จะพบบนที่ดอน เช่น ควนขี้เสียน ควนเคร็ง เป็นต้น พื้นที่นาข้าว จะเป็นแหล่งหากินของนกน้ำต่างๆ บริเวณพื้นน้ำ จะเป็นแหล่งรวมพืชพรรณไม้น้ำที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น กง สาหร่าย กระจูด ผักตบ และบัวชนิดต่างๆ โดยเฉพาะบัวสายจะขึ้นเต็มพื้นน้ำเป็นทะเลบัวที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย

สัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานนกน้ำทะเลน้อย สัตว์ป่าที่มีรายงานในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยมีไม่ต่ำกว่า 250 ชนิด โดยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 13 ชนิด เช่น ลิงแสม เสือปลา และลิงลม เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลานอย่างน้อย 25 ชนิด เช่น เต่า ตะพาบน้ำ จิ้งแหลน และงูชนิดต่างๆ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กุ้ง ปู หอย และสัตว์น้ำอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนพวกปลาน้ำจืดพบไม่ต่ำกว่า 45 ชนิด ปลาที่น่าสนใจและพบได้ไม่ยาก เช่น ปลาช่อน ปลากระดี่ ปลาซิว ส่วนปลาที่น่าสนใจแต่พบตัวได้ยากกว่า เช่น ปลาปักเป้าน้ำจืด และ ปลาเสือพ่นน้ำ เป็นต้น
นกในอุทยานนกน้ำทะเลน้อย จากสภาพพื้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณไม้น้ำ และสัตว์น้ำต่างๆ ทะเลน้อยจึงมีความเหมาะสมเป็นแหล่งอาศัยหากินทำรังและวางไข่ของนกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกน้ำ จากการสำรวจพบนกราว 187 ชนิด แยกออกเป็นนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ประจำตลอดปี และนกอพยพย้ายถิ่น โดยจะอพยพมาในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นกมีประชากรมากที่สุดถึงราว 43,000 ตัว ส่วนช่วงที่มีนกน้อยที่สุดอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน อันเป็นช่วงที่นกน้ำทำรัง นกต่างๆที่น่าสนใจในทะเลน้อยมีดังนี้

วงศ์นกยาง (Heron) นกน้ำในวงศ์นี้มีลักษณะขายาว คอขาว กินปลาและสัตว์น้ำเล็กๆ มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบในทะเลน้อยราว 15 ชนิด เช่น นกยางไฟหัวดำ (Yellow Bittern) นกยางโทนใหญ่ (Great Egret) นกกาบบัว (Painted Stork) นกกระสาแดง (Purple Heron) เป็นต้น โดยเฉพาะนกยางและนกกระสาแดง จะทำรังและอาศัยอยู่ในทะเลน้อยตลอดทั้งปีเป็นจำนวนมาก

วงศ์นกเป็ดน้ำ (Duck and Geese) นกน้ำคล้ายเป็ดซึ่งมีปากแบน แต่มีขนาดเล็กกว่า สามารถว่ายน้ำและดำน้ำหาปลาได้ดี ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นฝูง อพยพมาในฤดูหนาว นกเป็ดน้ำที่พบในทะเลน้อย เช่น นกเป็ดแดง (Lesser Whistling-Duck) เป็ดคับแค (Cotton Pygmy-Goose) เป็ดลาย (Garganey) นอกจากนี้ยังมี นกเป็ดผี (Little Grebe) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Grebes มีลักษณะคล้ายนกเป็ดน้ำ ต่างกันตรงปลายปากแหลม ว่ายน้ำและดำน้ำเก่งมาก

วงศ์นกอัญชัญ (Rails) นกน้ำวงศ์นี้จะมีขาและนิ้วยาว สามารถเดินหากินบนกอไม้น้ำได้เป็นอย่างดี นกวงศ์นี้พบได้ง่ายในบริเวณรอบๆ ที่ทำการเขตฯนั่นเอง ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น เช่น นกอัญชัญคิ้วขาว (White-browed Crake) นกกวัก (White-Breasted Waterhen) นกอีลุ้ม (Waterhen) นกอีล้ำ (Common Moorhen) นกคู๊ท (Coot)

วงศ์นกพริก (Jacana) นกน้ำวงศ์นี้มีนิ้วที่ยาวมาก สามารถเดินข้ามบนกอไม้น้ำได้ดี ลักษณะเด่นตัวผู้จะทำหน้าพี่ฟักไข่เลี้ยงลูก ตัวเมียจับคู่ครั้งละหลายตัว พบที่ทะเลน้อย 2 ชนิด คือ นกอีแจว (Pheasant-tailed Jacana) นกพริก (Bronzewinged Jacana)วงศ์นกกาน้ำ (Cormorant) นกน้ำสีดำรูปร่างคล้ายกา นิ้วเท้ามีพังผืดดำน้ำเก่งมาก มีทั้ง กาน้ำเล็ก (Little Cormorant) และ กาน้ำใหญ่ (Great Cormorant)

วงศ์นกตีนเทียน (Stilts) นกชายเลนชนิดนี้มีขายาวปากยาว มีสีเป็นขาวดำ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เมืองไทยมีชนิดเดียว คือ นกตีนเทียน (Blackwinged Stilt)

นอกจากนี้แล้วยังมีนกที่พบเสมอ เช่น เหยี่ยวแดง (Brahminy Kite) นกกระแตแต้แว๊ด (Redwattled Lapwing) นกนางนวลแกรบเคราขาว
(Wiskered Tern) นกกระเต็นน้อยธรรมดา (Common Kingfisher) นกนางแอ่นบ้าน (Barn Swallow) เป็นต้น
ท่องธรรมชาติอุทยานนกน้ำทะเลน้อย นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงทะเลน้อยจะมองเห็นตัวทะเลน้อยได้ส่วนหนึ่ง หลังจากเดินเข้าไปภายในเขตฯ แนะนำว่านักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางมาทะเลน้อยเป็นครั้งแรกควรจะเข้าไปหาข้อมูลของพื้นที่ใน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อยู่ริมตลิ่งใกล้ๆ กับประตูทางเข้าเขตฯ จากนั้นจึงเริ่มไปพักผ่อนที่ศาลาท่าเรือ หรือ ลงเรือชม
ธรรมชาติ เส้นทางศึกษาธรรมชาติของทะเลน้อยแบ่งออกเป็นหลายจุด จากที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเที่ยวชมได้ดังนี้


1.สะพานไม้รอบที่ทำการฯ สิ่งที่น่าสนใจตามทางเดินเท้าในบริเวณที่ทำการฯ มีดังนี้ นกอีโก้ง นกพริก นกอีล้ำ นกยางควาย จอกหูหนู บัวสาย ปลากระดี่ ปลาช่อน สำหรับต้นกระจูดที่ใช้สำหรับทำหัตถกรรม ทางเขตฯ ได้นำมาปลูกแสดงไว้ใกล้ๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ชมลักษณะดั้งเดิมของต้นกระจูด ก่อนนำไปผ่านขบวนการผลิต ขณะที่ท่านเดินผ่านไปตามเสาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสาไม้หรือเสาปูน ลองสังเกตดูว่าท่านเห็นวัตถุก้อนสีขาวหรือก้อนสีชมพูบ้างไหม ท่านทราบไหมว่ามันคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างทางเดินท่านจะพบผักตบชวาที่ถูกกั้นอยู่ในกรอบและอาจพบนกอีโก้งหาอาหารกินอยู่ใกล้ๆ กอผักตบชวาเหล่านั้นคือ แหล่งสร้างรังวางไข่ของนกน้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น คือ นกอีโก้ง และ นกพริก และยังเป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วยศาลากลางน้ำ เป็นจูดที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่นำอาหารกลางวันมารับประทาน ด้วยบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยความชุ่มฉ่ำของสายลมเย็นท่ามกลางกลุ่มบัวสายและจอกหูหนู มีเสียงกบ เขียด ขับ กล่อมพร้อมกับได้เห็นนกนานาพันธุ์ต่างสีต่างท่าทาง ต่างก็หากินอย่างอิสระ นับเป็นบรรยากาศที่หาได้ยากขึ้นๆ ทุกวัน หากท่านมีเวลามาก ขอแนะนำให้ท่านลงเรือไปชมความงามของทะเลน้อยในจุดอื่นๆ บ้าง
2.หมู่บ้านทะเลน้อย เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนาและทำประมงเป็นหลัก ปัจจุบันชาวบ้านส่วนหนึ่ง (อาจจะถึง 1 ใน 3 ) เดินทางออกไปหางานทำในต่างถิ่น ชาวบ้านที่เหลือก็ยังทำนา ทำประมง ทำหัตถกรรม (เสื่อกระจูด) ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป แต่ที่น่าประทับใจก็คือท่านจะพบกับรอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรีของชาวบ้านที่มีต่อนักนักท่องเที่ยวของฝากจากทะเลน้อย คงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูดที่เกิดจากฝีมือและความวิริยะอุตสาหะของแม่บ้านชาวทะเลน้อย ไม่ว่าจะเป็น เสื่อ หมวก แผ่นรองจาน แผ่นรองแก้ว กระเป๋า ฯลฯ และ ของฝากที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของทะเลน้อยก็คือปลาดุกร้าที่อร่อยแบบสุดจะบรรยาย ต้นตำรับของปลาดุกร้าของแท้ต้องที่ทะเลน้อยเท่านั้น
3.ดงนกนางนวล ในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนเมษายน เมื่อเรือออกจากท่าได้ราว 150 เมตร ท่านจะพบฝูงนกนางนวลเกาะอยู่ตามหลักไม้ที่ปักไว้ตามทางเข้าออกของเรือ นกนางนวลที่พบบ่อยในทะเลน้อยมี 2 ชนิด คือ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว (Whitewinged Tern) และ นกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered Tern) ท่านจะพบนกนางนวลแกลบเหล่านี้เกาะพักรวมกันตามไม้ที่ปักไว้ดังกล่าว นกทั้ง 2 ชนิดจะย้ายไปหาอาหารกินที่อื่นนอกช่วงเวลาที่กล่าวไว้ข้างต้น
4.ดงบัวสาย ผ่านจากนกนางนวลเรือจะพาท่านวนไปตามเข็มนาฬิกา จะผ่านไปในดงบัวสาย ดงบัวที่มีสีชมพู บ้านสะพรั่งในช่วงเวลา 8 โมงเช้า เมื่อแดดร้อนแรงขึ้น บัวสายจะเริ่มหุบ และจะบานเต็มที่อีกครั้งหนึ่งในวันรุ่งขึ้น บัวสายเป็นบัวพันธุ์พื้นเมืองที่แพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย ก้านใบสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ต้มกระทิ ผัดน้ำมัน หรือ ต้มจิ้มน้ำพริกได้ ในบริเวณดงบัวสายท่านอาจพบ นกยางกรอก นกอัญชันคิ้วขาว นกพริก หรือ นกอีแจว เดินหากินอยู่บนใบบัว ท่านสงสัยไหมว่าทำไมนกเหล่านั้นจึงเดินบนใบบัว หรือพืชน้ำ เช่น จอก แหนได้ ลองสังเกตดูความยาวของนิ้วเท้าของนกเหล่านั้นให้ดี
5.ดงนกเป็ดน้ำ นกเป็ดน้ำเป็นนกมีปีก มันบินได้และเคลื่อนย้ายที่อยู่เสมอ ส่วนมากจะพบได้ตามดงกระจูดหนูที่ไม่หนาแน่น ตามดงบัวสาย หรือ บัวหลวง นกเป็ดน้ำที่พบได้ตลอดปี คือ นกเป็ดแดง และ เป็ดคับแค (ยกเว้นเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่นกเป็ดน้ำผลัดเปลี่ยนขนจะพบได้ยาก) ส่วนเป็ดลาย และเป็ดชนิดอื่นๆ จะเป็นเป็ดที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชียพบได้เฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมีนาคม ส่วนมากเราจะเข้าใกล้ฝูงนกเป็ดน้ำได้ไม่มากนัก นกจะบินหนีขึ้นพร้อมๆกันครั้งละเป็นพันๆตัว พร้อมกับเสียงกระพือปีกพรึบพรับเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ส่วนใหญ่คนขับเรือจะรู้ว่าจะพบนกเป็ดน้ำได้ที่ไหน
6.ดงกระจูดหนู เป็นพืชน้ำที่พบได้มาก มักขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นที่หลบภัยของนกและสัตว์น้ำ กระจูดหนูเป็นพืชที่มีลำต้นเปราะบาง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำเครื่องใช้ การจังต้องต้นกระจูดหนูควรระมัดระวัง ต้นเปราะและคมอาจบาดมือท่านได้ ต้นอ่อนของกระจูดหนูเป็นอาหารของนกอีโก้งและปลาบางชนิด ที่ว่างๆในดงกระจูดหนูท่านอาจพบเป็ดคับแค หรือ สาหร่ายข้าวเหนียว พืชมีดอกไม่ใช่สาหร่ายแต่เราไปเรียกมันว่าสาหร่าย สาหร่ายข้าวเหนียวมีดอกเล็กๆสีเหลือง เป็นพืชพิเศษชนิดหนึ่งที่สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกินเป็นอาหารได้ โดยใช้กระเปาะเล็กๆที่มีอยู่มากมายใต้น้ำเป็นกับดักจับ ลองหยุดเรือแล้วพิจารณาดูลักษณะของกระเปาะดังกล่าว
7.ศาลานางเรียม ตั้งอยู่ในบริเวณปากคลองนางเรียม เป็นศาลาที่ปลูกสร้างขึ้นกลางน้ำขนาดกลาง รับน้ำหนักได้ราว 30 คน ศาลาน้ำเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมารับประทานอาหารกลางวัน ด้วยว่ามีบรรยากาศร่มรื่น ลมเย็นสบาย (ที่สำคัญมีห้องสุขาไว้บริการ) รอบๆบริเวณศาลามีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น บัวหลวงที่อยู่ทางด้านทิศเหนือจะมีสีขาว ส่วนทางทิศใต้จะมีสีชมพู ทางทิศตะวันตกจะพบต้นเตยน้ำหลายต้นขึ้นรวมกลุ่มกันเป็นดงใหญ่ ในตอนใกล้ค่ำนกกระยางควายจะมาอาศัยนอนและถ่ายมูลทิ้งไว้เป็นหลักฐาน
8.คลองนางเรียม เป็นคลองดั้งเดิม 1 ใน 3 คลองสำคัญ และเป็นคลองสุดท้ายที่ยังมีน้ำไหลสะดวกไม่ตื้นเขินเช่นคลองดั้งเดิมอื่นๆ แต่เดิมทะเลน้อยเคยมีจระเข้อาศัยอยู่ค่อนข้างชุกชุม และคลองนางเรียมก็เป็นคลองที่มีจระเข้ชุกชุมเช่นกัน เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจุบันจระเข้เหลือเป็นเพียงตำนานให้เล่าขานกับเท่านั้น คลองนางเรียมมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ ไหลไปออกทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านใช้คลองนี้เป็นทางสัญจรระหว่างทะเลน้อยกับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมทะเล สองฝั่งคลองนางเรียมยังมีพันธุ์ไม้หลายชนิดปรากฏให้เห็น เช่น ต้นลำพู ต้นกุ่มน้ำ จิกพรุ เสม็ดขาว บัวสาย บัวลินจง
9.แหลมดิน เมื่อจะพ้นคลองนางเรียมทางขวามือเป็นทุ่งโล่งมีหญ้าสั้นๆขึ้นเขียวขจี โดยเฉพาะในฤดูฝนก่อนที่น้ำจะหลากท่วมราว 1-2 เดือน เมื่อพ้นคลองนางเรียมมาแล้วจะออกสู่ทะเลสาบ เราสามารถหาที่จอดเรือแล้วขึ้นฝั่งไปเดินบนดินได้ แหลมดินเป็นจุดดูนกน้ำและนกชายเลนได้เป็นอย่างดี มีนกเด่นๆ เช่น นกตีนเทียน นกช้อนหอยขาว นกหัวโตหลังจุดสีทอง และ นกแอ่นทุ่งใหญ่ เป็นต้น ถ้าโชคดีอาจได้พบนกกาบบัว หรือ นกตะกรุม เดินหากินอยู่บ้างก็ได้
10.ดงบัวบา จากแหลมดินคนขับเรือจะนำท่านเข้าสู่คลองบ้านกลางและกลับเข้าสู่ตัวทะเลน้อยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าท่านสังเกตสักนิด ขณะที่เรือแล่นผ่านดงกระจูดหนูหรือที่ว่างๆท่านอาจจะเห็นบัวชนิดหนึ่งที่มีดอกสีขาวเล็กๆมีเกสรสีเหลือง นั่นแหละ บัวบา หรือ ชบาน้ำ บัวที่แปลกไปจากบัวชนิดอื่นที่ท่านเคยรู้จักมา ลองบอกให้คนขับเรือหยุดเรือ แล้วพิจารณาดูการเกิดดอก การแตกใบว่าแตกต่างจากบัวสายหรือบัวหลวงที่ท่านรู้จักมาก่อนหรือไม่
11.ผืนน้ำกว้าง หลังจากหาคำตอบจากบัวบาได้แล้วก็ถึงเวลาที่จะกลับที่ทำการฯ (ท่าเรือ) ทะเลน้อยช่วงนี้จะเป็นผืนน้ำกว้างและค่อนข้างลึก (1-2 เมตร) ไม่ค่อยมีพืชน้ำ ถ้าดูให้ดีจะเห็นเป็ดผีว่ายน้ำดำผุดดำว่าย หาอาหารกินอยู่ไม่ไกลนัก ตามหลักไม้ที่มีผู้ปักทิ้งไว้มักจะพบนกกาน้ำเล็ก (ตัวสีดำ) เกาะกางปีกผึ่งแดดหลังจากดำน้ำหาปลากินจนอิ่มแล้ว ถ้าท่านเหนื่อยแล้วก็ลองนั่งหลับตานึกดูซิว่าการนั่งเรือเที่ยวในครั้งนี้ท่านได้ความรู้อะไรบ้าง หรือถ้าเหนื่อยนักก็นั่งหลับได้เลย หลับสักงีบเล็กๆแต่ระวังอย่าลืมตัวตกน้ำไปก็แล้วกัน
ข้อปฏิบัติในการเดินทางท่องเที่ยวทะเลน้อย เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทะเลน้อย ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่ต้องใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการชมธรรมชาติ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของนักท่องเที่ยวย่อมนำมาซึ่งความปลอดภัย ความสะดวก และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของแหล่งท่องเที่ยวควรปฏิบัติตัวดังนี้

1.ศึกษาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับนกน้ำและธรรมชาติของทะเลน้อยล่วงหน้า
2.ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของกรมป่าไม้
3.ลงเรือด้วยความระมัดระวัง และพยายามนั่งให้น้ำหนักของผู้โดยสารกระจายอยู่กลางๆลำเรือ ขณะเรือแล่นไม่ควรยื่นมือหรือเท้าออกไปนอกเรือ หรือ ทำให้เรือเสียการทรงตัว
4.ขยะทุกชิ้นควรนำกลับมาทิ้งในถังขยะบนฝั่ง ถ้าพบขยะกรุณาเก็บมาทิ้งด้วย

5.ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนขณะชมธรรมชาติ

6.ไม่เก็บดอกไม้ หรือ ทำลายพืชพันธุ์ตามธรรมชาติที่ปรากฏตามทางศึกษาธรรมชาติ
คู่มือนักเดินทาง การเดินทางไปทะเลน้อย หากจะเริ่มที่กรุงเทพฯ ก็สามารถไปได้สะดวกทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่ตัวจังหวัดพัทลุง เครื่องบิน ต้องบินไปลงหาดใหญ่หรือตรัง แล้วนั่งรถยนต์มาที่พัทลุง และ ทะเลน้อย ตามลำดับ รถไฟ มีรถไฟผ่านสถานีพัทลุงทุกวัน ติดต่อสถานีรถไฟกรุงเทพฯ รถยนต์ มีรถประจำทางแบบธรรมดาและปรับอากาศ ออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (กรุงเทพฯ) ทุกวัน จากพัทลุงจะต้องนั่งรถสองแถวไปยังทะเลน้อย (มีคิวรถสองแถว พัทลุง-ทะเลน้อย อยู่ใกล้สถานีรถไฟ) โดยใช้เส้นทางหลวงสาย 4084 ผ่านอำเภอควนขนุน ตลาดปากคลอง สุดปลายทางที่ทะเลน้อย เป็นระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร


ติดต่อที่พัก

-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โทร.074-685230

-บ้านพักตากอากาศ "พรมเงิน" ริมทะเลน้อย โทร.074-685225



อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ตั้งชื่อตามภูเขาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนในจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เขาปู่" ถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในท้องถิ่น อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ครอบคลุมพื้นที่ 433,750 ไร่ (694 ตารางกิโลเมตร) อยู่ในท้องที่ ต.น้ำตก อ.ทุ่งสง, ต.วังอ่าง ต.เขาพระทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ต.หนองปรือ ต.หนองบัว ต.เขาไพร อ.รัษฎา, ต.ท่างิ้ว ต.เขาปูน อ.เมือง, ต.ช่อง ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง ต.ชุมพล ต.ลำสินธุ์ ต.บ้านนา กิ่ง อ.ศรีนครินทร์, ต.ตะแพน ต.เขาปู่ อ.ศรีบรรพต, ต.เกาะเต่า ต.ลานข่อย อ.ป่าพะยอม, ต.กงหรา ต.ชะรัด ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา จ.พัทลุง และได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น "อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า" โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 72 วันที่ 27 พฤษภาคม 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 42 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ/ภูมิอากาศ
เป็นเทือกเขาสูง พื้นที่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณป่าเทือกเขาบรรทัด มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนมากมายมี "เขาหินแท่น" เป็นยอดเขาสูงสุด มีความสูงประมาณ 877 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นจุดแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพัทลุงและตรัง สภาพธรณีประกอบไปด้วยเทือกเขาหินปูนจัดอยู่ในกลุ่มหินปูนทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียนถึงยุคไตรแอสซิสจูราสสิค อายุประมาณ 450-150 ล้านปีมาแล้ว
สภาพภูมิอากาศ : จะมีเพียงฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนอยู๋ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ฝนตกมากในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน โดยปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ประมาณ 2,000-2,500 มิลลิเมตร/ปี อุณหภูมิระหว่าง 20-35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศสเซลเซียส พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นต้นน้ำของแม่น้ำตรังและแม่น้ำปากพนัง โดยในฝั่งจังหวัดพัทลุงเป็นแหล่งกำเนิดคลองลาไม คลองไม้เสียบ คลองน้ำใส ซึ่งจะไหลรวมเป็นคลองชะอวดและแม่น้ำปากพนัง ส่วนในฝั่งจังหวัดตรังเป็นต้นกำเนิดของคลองรำภูรา คลองละมอ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำตรัง
สภาพพืชพรรณ/สัตว์ป่า ส่วนใหญ่เป็น ป่าดิบชื้น ประมาณ 60% ของพื้นที่มีพรรณไม้หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ ไม้ยาง ตะเคียน หลุมพอ กระบาก จำปาป่า พิกุล ไข่เขียว นากบุตร พญาไม้ เป็นต้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบประมาณ 60 กว่าชนิด ได้แก่ เลียงผา เสือปลา พญากระรอกเหลือง พญากระรอกดำ เก้ง กวาง กระจง หมูป่า ค่างแว่นถิ่นใต้ ชะนี อีเห็นลายพาด หมีคน หนูผีจิ๋ว ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน ค้างคาวปีกถุงเคราดำ ค้างคาวมงกุฎเล็ก เป็นต้น นก พบประมาณ 286 ชนิด อาทิเช่น นกแซวสวรรค์ นกกางเขนดง นกกินปลีสีเรียบ นกจับแมลงสีส้ม นกขุนแผนอกส้ม นกกระบั้งรอก นกเงือกหัวหงอก นกเขาเขียว เหยี่ยวรุ้ง นกโพระดก นกกระเต็นแดง นกกระจิบกระหม่อมแดง เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน พบประมาณ 67 ชนิด อาทิเช่น งูดิน มลายู เห่าช้าง งูจงอาง กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า ตุ๊กแกป่าใต้ งูใบ้ ตุ๊ดตู่ ตะกวด ตะพาบน้ำ เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อาทิเช่น กบหงอนมลายู กบเขาหลังตอง กบอ่อง จงโคร่ง อี่งกรวยมลายู กบชะง่อนหินเมืองใต้ กบตะนาวศรี กบว๊าก อึ่งกรายลายจุด อึ่งกรายหัวแหลม คางคกแคระ เขียดบัว เป็นต้น แมลง พบประมาณ 70 ชนิด อาทิเช่น ผึ้งหลวง จักจั่น งวงมวนแดง ด้วงกว่างห้าเขา สีเสื้อพ่อมด ผีเสื้อช่างร่อน ผีเสื้อหางติ่งอิศวร ผีเสื้อพระเสาร์ใหญ่ ผีเสื้อดาราไพรปักษ์ใต้ ผีเสื้อเจ้าป่า เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยว

ในบริเวณใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ดังนี้
น้ำตกเหรียงทอง อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 1 ต.เขาปู่ อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง อยู่ห่างจากชุมชนบ้านเขาปู่ประมาณ 2 ก.ม. เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม ชั้นที่ 13 มีจุดชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทะเลน้อย
ถ้ำวังนายผุด อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 5 ต.วังอ่าง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามวิจิตรตระการตาด้วยหินงอก-หินย้อย ถ้ำมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ความยาวประมาณ 200 เมตร ปากทางเข้าเป็นลานหินกว้างรูปทรงแปลกตา ภายในถ้ำมีทางลอดทะลุไปสู่อีกด้านหนึ่ง มีซอกหลืบถ้ำขนาดเล็กจำนวนมาก สภาพป่าโดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์
น้ำตกควนประ อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 5 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามไหลลดหลั่นลงมา 6 ชั้น เหมาะในการลงเล่นน้ำและพักผ่อนหย่อนใจ
น้ำตกปากแจ่ม อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 3 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมีน้ำไหลตลอดทั้งปี สภาพป่าโดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะในการลงเล่นน้ำพักผ่อนหย่อนใจหรือเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
ถ้ำรื่นเทพนิมิต (ถ้ำตาปู่) คือถ้ำที่สวยงามอยู่ในภูเขาเป็นสัญลักษณ์ของตำบลเขาปู่ เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณ "ตาปู่" เป็นที่กราบไหว้ของประชาชนทั่วไป ในถ้ำแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องที่ 2 เป็นที่อยู่ของช้างแก้ว ซึ่งเป็นหิดสีขาวที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายลำตัวช้างโผล ่มาจากผนังถ้ำมีงวงและงาคล้ายช้าง ถ้ำรื่นเทพนิมิต ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 11 ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง
ถ้ำมัจฉาปลาวน เป็นถ้ำขนาดกลาง ภายในมีหินงอกหินย้อย มีแอ่งน้ำกว้างประมาณ 100 ตารางเมตร มีฝูงปลามัดอาศัยอยู่จำนวนมาก นอกจากปลาถ้ำนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวหลายประเภท อาทิ ค้างคาวหน้ายักษ์ และค้างคาวมงกุฎ เป็นต้น ถ้ำมัจฉาปลาวน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 2.5 กิโลเมตร
ข้อมูลทั่วไปอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อยู่ห่างจากจังหวัดพัทลุง 37 กิโลเมตร สามารถเข้าถึงได้โดยทางรถยนต์ จากตัวเมือง จังหวัดพัทลุง ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4164 ระยะทาง ประมาณ 17กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เส้นทางสายนี้สามารถไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เพื่อเดินทางไปจังหวัดตรังได้
ในการประกอบกิจกรรมนันทนาการในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ เขาย่า ไม่ว่าจะเป็น การเดินป่า การเล่นกีฬา ดูนก การปิกนิก การพักแรมค้างคืน การก่อกองไฟ ให้กระทำเฉพาะในเขตหรือบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ควรกระทำหรือส่งเสียงอื้อฉาวรบกวนคนหรือสัตว์ ไม่เดินออกนอกเส้นทางถาวร และปฎิบัติตนตามที่เจ้าหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายไว้ สำหรับผู้ที่พักแรม ต้องเตรียมเครื่องนอนและอุปกรณ์ในการพักแรมไปเอง และต้องเก็บและทำความสะอาดที่พักให้เรียบร้อย เมื่อเลิกใช้แล้ว ต้องระมัดระวังมิให้ไฟลุกลามไปยังที่อื่น หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สิ่งอำนวยความสะดวก
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นศูนย์ข้อมูลและให้บริการทางด้านการท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่คอยบริการให้คำแนะนำเดินป่าศึกษาธรรมาชาติ จัดกิจกรรมค่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริการรับจองบ้านพัก สถานที่จัดประชุมสัมมนา มีห้องประชุมขนาดเล็กความจุประมาณ 23 คน ห้องประชุมขนาดกลางความจะประมาณ 100 คน และมีห้องสมุดขนาดเล็ก ศูนย์ข้อมูลและนิทรรศการ เป็นศูนย์ให้บริการด้านข้อมูลและจัดแสดงนิทรรศการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บ้านพักนักท่องเที่ยว ทางอุทยานมีบ้านพักบริการ จำนวน 11 หลัง และสถานที่กางเต็นท์ (ค่ายพักแรม) เพื่อบริการนักท่องเที่ยว


บ่อน้ำร้อนเขาชัยสน
สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง อยู่ห่างจากอำเภอเมืองพัทลุง ประมาณ 25 กม. ห่างจาก องค์การบริหารส่วนตำบล ประมาณ 500 เมตร การเดินทาง สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ และรถไฟ สภาพทั่วไป เป็นแอ่งน้ำร้อน อุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส อยู่บริเวณเชิงเขาชัยสน ประชาชนเชื่อกันว่าเป็นแอ่งน้ำศักดิ์สิทธิ สามารถอาบรักษาโรคผิวหนังได้ อุณหภูมิของน้ำจะสูงขึ้นหากได้รับแรงสะเทือน มีน้ำร้อนใหลตลอดเวลา สภาพปัจจุบัน ได้รับปรุงปรุงให้เป็นที่ท่องเที่ยว โดยทำการปรับปรุงสถานที่อาบน้ำ บ่อพักน้ำร้อน อาคารที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ก่อสร้างบันใดขึ้นชมถ้ำบริเวณข้างเคียง ก่อสร้างสถานที่จำหน่ายสินค้า เหมาะสำหรับการพักผ่อนเป็นครอบครัว การให้บริการ บริการที่พัก 600 บาทต่อ 1 คืน อาบน้ำแร่ในสระฟรี มีบริการอาบน้ำแร่ฝักบัว แช่อ่าง ร้านจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ จำนวน 12 ร้าน
ติดต่อจองที่พักได้ที่ -องค์การบริหารส่วนตำบลเขาชัยสน โทร 0-7469-1405 -บ่อน้ำร้อนเขาชัยสนโทร 0-7469-1590

วัดวัง
ที่ตั้ง : บ้านลำปำ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองเส้นทางคมนาคม : จากศาลากลางจังหวัดพัทลุงไปทางทิศตะวันออกตามถนนลาดยางสาย ราเมศวร์-อภัยบริรักษ์ (พัทลุง-ลำปำ) ประมาณ 7 กิโลเมตรความสำคัญต่อชุมชน : ภายในวัดมีอุโบสถก่ออิฐถือปูน จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ วิหารคต พระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปสำริด และเจดีย์ก่ออิฐถือปูน มีความสำคัญทางด้านศิลปกรรมและเป็นที่เคารพนับถือขอวประชาชนทั่วไป และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพัทลุงด้วยสภาพแวดล้อม : พื้นที่เป็นที่ราบมีกำแพงล้อมรอบด้านทิศตะวันตกและทิศใต้มีคลองน้ำเชี่ยวไหลผ่าน บริเวณรอบโบราณสถานมีต้นไม้ยืนต้นให้ความร่มรื่นเป็น มะม่วง ชมพู่ อโศก มะพร้าว และต้นโพธิ์ อาคารโบราณสถานได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร แต่มีบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุด เช่น วิหารคด พระพุทธปูนปั้น 108 องค์ เป็นต้น สถานภาพ : ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เขาเจ็ดยอด
เขาเจ็ดยอด อยู่บนเทือกเขาบรรทัดเป็นผืนป่า ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นแหล่งกำเนิดของต้นล้ำลำธารที่มีความสำคัญหลายสาย ไหลลงสู่พื้นที่ราบในจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล และจังหวัดสงขลา อดีตเคยเป็นเขตการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) โดยเป็นแหล่งช่องสุมกำลังที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ แต่ปัจจุบันผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่กว้างบนสันเขาที่มียอดเขาสูงไล่เลี่ยกัน 7 ยอดจนเป็นที่มาของชื่อ "เขาเจ็ดยอด" เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นได้ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งทะเลอ่าวไทย สภาพอากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นตลอดทั้งปี บริเวณโดยรอบถูกปกคลุมด้วยมีต้นไม้แคระสลับกันทุ่งหญ้ากว้าง การเดินทางจากตัวเมืองพัทลุงขึ้นเขาเจ็ดยอด สามารถขึ้นได้ทางน้ำตกไพรวัลย์ โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทั้งไปและกลับรวม 3 วัน 2 คืน นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปกางเต็นท์บนเขาเจ็ดยอด และสัมผัสทะเลหมอกในยามเช้า ชมแสงสียามค่ำคืนจากแสงไฟในตัวเมืองที่อยู่รายรอบทั้ง 4 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา ในยามเช้า เทือกเขาบรรทัดที่เขาเจ็ดยอดแสงแดดอ่อน ๆ ทอดแสงเงาลงตามเหลี่ยมเขาแลเห็นเป็นสีส้ม สวยงามและอบอุ่น และเมื่อมองลงไปเบื้องล่างยังฟากภูเขาตะวันตก จะมองเห็นฝั่งทะเลอันดามันและจังหวัดตรัง ถูกโอบคลุมด้วยปุยหมอกขาวนวลอยู่ลิบ ๆ บรรยากาศช่างน่าหลงไหลยิ่งนัก
น้ำตกหนานสูง ตั้งอยู่บนเทือกเขาบรรทัด หมู่ที่ 2 ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ซึ่งทางองค์การบริหารส่วน-ตำบลคลองทรายขาว ร่วมกับราษฎรได้พัฒนาเส้นทางเข้าสู่น้ำตก เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง น้ำตกหนานสูงนับได้ว่ายังมีสภาพอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้นานาชนิด เนื่องจากยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าสัมผัสมาก่อน เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดปี ลดหลั่นลงมาตามโขดหินสูง นับสิบชั้น แต่ที่สวยงามคือหนานสูงที่มีน้ำไหลลงมาจากโขดหินสูง เป็นทางยาว นอกจากนั้นยังมีหนานสิ้นปลา และหนานหรูด ซึ่งสามารถเล่นสไลด์ตามความลาดของแผ่นหินได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัย จังหวัดพัทลุงร่วมกับทาง อบต. จะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแถบเทือกเขาบรรทัดแห่งใหม่ แต่จะมีการควบคุมให้ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติจริง ๆ เพื่อให้น้ำตกไม่เสื่อมโทรมและสามารถเป็นต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยงชาวพัทลุงได้อย่างยั่งยืน
น้ำตกมโนราห์ เป็นน้ำตกขนาดกลาง น้ำใสมีสีเขียวไหลแรงลงสู่ลำธาร ซึ่งประกอบไปด้วยโขดหิน เกาะแก่งเป็นระยะทางยาว อีกทั้งยังมีสะพานแขวนให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมกันอีกด้วย เหมาะอย่างยิ่งในการพักผ่อนและเล่นน้ำ ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งนาโพธิ์ พื้นที่ความรับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด อยู่ก่อนถึงน้ำตกไพรวัลย์ เมื่อถึงบริเวณลานขอดรถแล้วเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ทางเดินมีบันไดให้เดินได้อย่างสะดวกสบาย
เกาะสี่ - เกาะห้า ตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลา เขตพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เกาะแห่งนี้เป็นที่อยู่ของนกอีแอ่นทะเลเป็นจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า "เกาะรังนก" เป็นที่ตั้งของถ้ำถึง 78 แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของนก "อีแอ่น" นกเศรษฐกิจของจังหวัดพัทลุง ที่สามารถผลิตรังนกจนได้รับการกล่าวขานจากทั่วโลกว่า "ประเทศไทยคือ 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ค้ารังนก และรังนกอีแอ่นของจังหวัดพัทลุงเป็นรังนกที่สวยและมีคุณภาพดีที่สุดในโลก เพราะอยู่ในเขตพื้นที่สามน้ำ คือน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด
คลองหูแร่ พัทลุง มีศักยภาพด้านการเกษตร กิจกรรมต่อเนื่องนอกจากแปรรูปผลผลิตแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ขณะนี้หลายพื้นที่กำลังทำ บางแห่งเริ่มทำ หลายชุมชนกำลังเรียนรู้อย่างเข้มข้น หลายชุมชนทำอย่างโดดเดี่ยว แต่ทุกพื้นที่มีสิ่งดีๆ ที่ควรยกย่อง คือความตั้งใจทำ เพราะงานลักษณะนี้ เห็นผลช้ากว่าก่อสร้างถาวรวัตถุ แต่เป็นผลงานอันยั่งยืน ควรภาคภูมิใจและดีใจแทนประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เช่น สภาลานวัดตะโหมดทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ป่าชุมชนเขาหัวช้าง การเน้นทางวัฒนธรรม ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอป่าบอน องค์กรชุมชนของภาคประชาชนแท้จริง กำลังทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ อ่างเก็บน้ำคลองป่าบอนน้ำตกหนานฟ้า น้ำตกแม่แตง และพื้นที่ใกล้เคียง องค์กรชุมชนบ้านพรุพ้อโคกทราย กำลังเข็นเรื่องฝึกรำมโนราห์ ชุมชนใกล้น้ำตกไพรวัลย์ก็เข้าร่วมจัดการการท่องเที่ยวน้ำตกไพรวัลย์ และที่อื่นๆก็กำลังทำ อำเภอบางแก้ว ก็กำลังมีสิ่งดีเกิดขึ้น อำเภอนี้มี 3 ตำบล มีถนนเอเชียตัดผ่าน มีทะเลสาบ มีทุ่งนา มีสวนยางพารา มีไร่นาสวนผสม มีสถานที่สำคัญและน่าสนใจหลายแห่ง เช่น การแกะรูปหนังตะลุงชื่อดังและฝีมือดี คือ นายอิ่ม จันทร์ชุมและคณะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป นอกจากนั้นแอ่งน้ำหรือธารหูแร่ ก็ลือชื่อมานานในแง่ของสถานที่พักผ่อน และที่รับประทานอาหาร ล่าสุดองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะเดื่อ ซึ่งนายวุฒิสาร ธัญญพานิช เป็นประธานกรรมการบริหาร ร่วมกับคณะจัดให้มีแพล่องคลองหูแร่ ต้นน้ำคลองนี้คือป่าใหญ่แห่งเทือกเขาบรรทัด บริเวณอำเภอตะโหมดและกงหรา โครงการนี้น่าสนใจ จุดเด่นคือตลิ่งสูง 2 เมตร มีรากไม้ระโยงระยาง เถาวัลย์ที่ไต่ต้นไม้ เสียงนกบางชนิดร้องให้ได้ยินอยู่บ้างพอเพลิดเพลิน คลองคดเคี้ยวไปตลอดเส้นทาง นมแมวควายออกดอกสีม่วงกลีบโต บางช่วงมีเด็กๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ผ่านบ้านเรือนไม่กี่หลังแสดงว่าไม่มีการรุกคลอง สภาพน้ำดูใสสะอาดไร้ขยะ มีอยู่บ้างก็ใบไม้กิ่งไม้ กอไผ่ขนาดใหญ่ที่โดนกระแสน้ำพัดพา แพถึงสะพานทางรถไฟ คลองช่วงนี้กว้างกว่า 30 เมตร มีต้นตะแบก ปอ นุ่น ผ่านสะพานโคกขี้แรด บริเวณใกล้เคียงแถบนี้ อบต.ชำนิ ปลอดประสม วิทยากรพิเศษกิจกรรมครั้งนี้ บอกว่า อบต.มีแผนจะก่อสร้างที่ประชุม และที่พักบริการนักท่องเที่ยวด้วย แพถึงจุดหมายที่บ้านสังเขย่า หมู่ที่ 3 ตำบลท่ามะเดื่อ ซึ่งคลองกว้างที่สุด มีกระชังเลี้ยงปลาทับทิมอยู่หลายกระชัง โปรแกรมล่องแพของ อบต.ท่ามะเดื่อ ในรอบประเดิมจึงจบสิ้นลง ท่ามกลางความประทับใจของผู้ร่วมกิจกรรม แม้จะใช้เวลาเดินทางเที่ยวเดียวประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ผู้สนใจที่เคยไปเยือนหูแร่เพื่อรับประทานอาหาร นั่งพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวและญาติมิตรที่เคารพรัก วันนี้สามารถล่องแพได้อย่างมีความสุขเต็มที่ ในราคาบริการเพียงคนละ 40 บาทเท่านั้น ที่ขอฝากคือ ควรไปเป็นหมู่คณะจะดีกว่า เพราะไม่ต้องรอคนเต็มลำ เนื่องจากแพสามารถบรรจุคนได้ถึง 40 คน แต่ถ้าจะเหมาลำก็ได้ สนใจติดต่อที่ อบต.ท่ามะเดื่อ หรือที่ว่าการอำเภอบางแก้วได้เช่นกัน
แหลมจองถนน ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน ห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 39 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) พัทลุง - หาดใหญ่ ประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเขาชัยสน(บ้านท่านางพรหม) ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4018 อีกประมาณ 19 กิโลเมตร ผ่านที่ว่าการอำเภอเขาชัยสนไปจนถึงริมทะเลบ้านจงเก จะพบกับผืนดินที่เป็นแหลมยื่นออกไปกลางทะเลสาบสงขลา เรียกกันว่าแหลมจองถนน เป็นจุดที่สามารถชมทัศนียภาพของทะเลสาบสงขลาที่สวยงาม โดยเฉพาะยามพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และสามารถสัมผัสชีวิตชาวเลของชาวบ้านแถบถิ่นนั้นได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
จุดชมวิวควนเลียบ ที่บ้านทุ่งเคียน ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน

วัดป่าขอม สถานที่ : วัดป่าขอมที่ตั้ง : บ้านลำปำ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองเส้นทางคมนาคม : จากศาลากลางจังหวัดพัทลุง ไปทางทิศตะวันออกตามถนนลาดยางสายราเมศวร์-อภัยบริรักษ์ (พัทลุง-ลำปำ) ประมาณ 6 กิโลเมตร มีถนนลาดยางแยกไปทางทิศใต้ 1 กิโลเมตรความสำคัญต่อชุมชน : ภายในวัดมีซากฐานเจดีย์ก่อด้วยอิฐ 1 องค์ พระพุทธรูปหินทรายแดง 3 องค์ ประดิษฐานในอุโบสถ ใบพัทธเสมาหินทรายแดง 2 ใบ พระประธานประชาชนเรียกว่า "พระพุทธนิมิตร" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่นมาก และเป็นหลักฐานที่สำคัญทางด้านศิลปโบราณคดีของจังหวัดพัทลุงสถาพแวดล้อม : พื้นที่วัดมีคูน้ำล้อมรอบ ปัจจุบันตื้นเขินมากแล้ว รอบๆอุโบสถและฐานเจดีย์มีต้นไม้เตี้ยๆปกคลุมอยู่ทั่วไป พระพุทธรูปหินทรายแดง ได้รับการบูรณะใหม่ แต่ฐานเจดีย์ถูกทิ้งไว้รกเป็นป่าหนาม ยังไม่มีการขุดแต่งหรือขุดค้นทางโบราณคดีสถานภาพ : ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เมืองเก่าบ้านควนแร่ ตั้งอยู่ที่ : บ้านควนแร่ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุงเส้นทางคมนาคม : จากศาลากลางจังหวัดพัทลุงไปทางทิศตะวันออกตามถนนลาดยางสายราเมศวร์-อภัยบริรักษ์ (พัทลุง-ลำปำ) ประมาณ 5 กิโลเมตร มีถนนลาดยางแยกไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตรความสำคัญต่อชุมชน : ชุมชนโบราณเคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา บริเวณเมืองเก่าได้พบเครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญของท้องถิ่นสภาพแวดล้อม : พื้นที่เมืองเก่าตั้งอยู่ริมควนสูงมีร่องรอยของกำแพงและคูน้ำเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย ด้านทิศเหนือเป็นวัดควนแร่ และคลองควนแร่ไหลผ่าน บริเวณตั้งเมืองประชาชนปลูกสร้างงานเรือนอาศัยมีต้นไม้ยืนต้น เช่น ไม้ยาง ขอบ มะม่วง มะขาม แนวกำแพงเดิมมีต้นไผ่เป็นระยะ ส่วนที่ด้านทิศตะวันออกมีถนนสายบ้านควนแร่-บ้านควนกุฏิ ตัดผ่านตัวเมืองไปบางส่วน รอบๆเนินเป็นที่ราบทำนาข้าว
เมืองเก่าบ้านควนแร่

ถ้ำมาลัย ถ้ำนี้อยู่ในเทือกเขาเแดียวกันกับภูเขาอกทะลุ ถูกค้นพบโดยพระธุดงค์จากภาคอีสาน ชื่อพระมาลัย จึงได้ตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ ภายในถ้ำมีลักษณะกว้างขวางสลับซับซ้อน มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก และมีแอ่งน้ำใสอยู่ตอนในสุดของถ้ำ การเดินทางจากสถานีรถไฟประมาณ 2 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 4047 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 7-8 จะมีทางลาดยางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร
วังเจ้าเมืองพัทลุง เดิมเป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันยังเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง คือ วังเก่า สร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจวงศ์) เป็นผู้ว่าราชการ ต่อมาวังได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตามะระ บุตรีของหลวงศรีวรฉัตร ส่วนวังในสร้างเมื่อ พ.ศ.2432 โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดี (เนตร จันทโรจนวงศ์) บุตรชายของพระยาพัทลุง ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการ ปัจจุบันนี้วังนี้ทายาทตระกูล " จันทโรจนวงศ์ " ได้มอบให้เป็นสมบัติของชาติ ปัจจุบันวังเจ้าเมืองพัทลุงได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร การเข้าชมต้องเสียค่าผ่านประตู คนไทย 5 บาท คนต่างชาติ 30 บาท เปิด 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ปิดในวันจันทร์อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ถ้ำวัดคูหาสวรรค์ ที่ตั้ง : ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุงเส้นทางคมนาคม : จากที่ว่าการอำเภอเมืองพัทลุง ไปทางทิศตะวันออกตามถนนลาดยางสาย ช่วยทุกขราษฎร์คูหาสวรรค์ ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางเดินเท้าและบันไดปูน ประมาณ 100 เมตรความสำคัญต่อชุมชน : ภายในถ้ำมีพระพิมพ์ดินดิบ พระพุทธรูปปูนปั้น 35 องค์ พระพุทธไสยาสน์ 1 องค์ ผนังถ้ำมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ปปร. ภปร. และ พระนามาภิไธยย่อ สก. และ ส.บ. เป็นสถานที่ชาวบ้านนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงสภาพแวดล้อม : เขาคูหาสวรรค์หรือเขาหัวแตก เป็นเขาหินปูนขนาดใหญ่ รอบๆเชิงเขาเป็นที่ตั้งของชุมชนหนาแน่น เนื่องจากตั้งอยู่กลางเมืองพัทลุง ยกเว้นเชิงเขาทางทิศเหนือ มีบ้านเรือนตั้งอยู่น้อย ส่วนใหญ่เป็นที่ราบทำนาข้าว เป็นเขตควบคุมของสำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ถ้ำพระคูหาสวรรค์ตั้งอยู่ทางเชิงเขาด้านทิศตะวันออก ภายในถ้ำได้รับการปรับปรุง และมีการบูรณะที่ขาดหลักวิชามาหลายครั้ง จนทำให้สภาพแวดล้อมศิลปกรรมเสียหายมาก ไม่เหลือความสวยงาม และจิตวิญญาณของแหล่งศิลปกรรมในอดีตสถานภาพ : ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
วัดเขาเมืองเก่า ที่ตั้ง : บ้านคอกวัว ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุงเส้นทางคมนาคม : จากศาลากลางจังหวัดพัทลุงไปทางทิศเหนือ ตามถนนลาดยางสายพัทลุง-ควนขนุน ประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีถนนลาดยางแยกไปทางทิศตะวันออก แล้ววกไปทางทิศเหนือประมาณ 7 กิโลเมตรความสำคัญต่อชุมชน : เป็นสถานที่ที่ประชาชนเคารพถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีผลในแง่ทางด้านจิตใจ และมีความสำคัญ ในด้านศึกษาสถาปัตยกรรมท้องถิ่นด้วยสถานภาพ : ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เจดีย์เขาอกทะลุ ที่ตั้ง : ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุงเส้นทางคมนาคม : จากศาลากลางจังหวัดพัทลุงไปทางทิศตะวันออก ตามถนนลาดยางสายราเมศวร์-อภัยบริรักษ์ (พัทลุง-ลำปำ) ประมาณ 2 กิโลเมตร มีถนนลูกรังแยกไปทางทิศเหนือเลียบเชิงเขาอกทะลุประมาณ 500 เมตร มีทางเดินเท้าขึ้นภูเขาสูง 245 เมตรความสำคัญต่อชุมชน : ซากเจดีย์หักพังเหลือแต่ฐานก่อด้วยอิฐถือปูน ประชาชนนับถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และทางราชการได้นำรูปภูเขาและเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง และเป็นหลักฐานที่สำคัญของแหล่งโบราณคดีเขาอกทะลุสภาพแวดล้อม : ซากเจดีย์ตั้งอยู่บนยอดเขาอกทะลุสภาพแวดล้อมเป็นพื้นหินราบ องค์เจดีย์ถูกฟ้าผ่ามาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง เนื่องจากไม่มีการติดสายล่อฟ้า เส้นทางขึ้นสู่เจดีย์บางช่วงเป็นหน้าผาสูงชัน ยากแก่การอนุรักษ์และซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงามได้สถานภาพ : ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

2 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
  2. ลงให้แล้วนะครับ

    ไปดูได้ที่ Thai blogger directory
    ขอบคุณที่ใช้บริการนะ

    ถ้ามีบล็อกไหนต้องการลงอีกก็ไป ลงไว้ได้เลยนะครับ

    ตอบลบ